มหาสารคาม – รวมพลังประชาชนจับมือภาครัฐ สร้างฝายชะลอความชุมชื้น คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ลำห้วยยาง สร้างโอกาสให้ชาวบ้านมีอาชีพทำกินในช่วงฤดูแล้ง
ที่บริเวณลำห้วยยาง บ้านวังโจด หมู่ที่ 15 ต.ห้วยเตย อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ได้จัดพิธีส่งมอบฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริฯ กักเก็บน้ำ ชลอความชุ่มชื้น สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีพันเอกกิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี มีส่วนราชการ ภาคประชาสังคมและชาวบ้านร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีอย่างคับคั่ง
พันเอกกิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดมหาสารคาม ที่อยู่กึ่งกลางภาคอีสานและมีพื้นที่เป็นลอนลูกคลื่น ส่งผลให้ลำห้วยสาขาแม่น้ำชีตอนบน รวมถึงหนองน้ำต่างๆ กักเก็บน้ำได้จำนวนน้อย ในช่วงหน้าแล้งประชาชนขาดน้ำกินน้ำใช้ ขาดน้ำทำการเกษตรการและประมง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ซึ่งจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม จัดกำลังพลชุดช่างร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เป็นกำลังช่วยกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริ ตามโครงการสร้างฝายถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ลำห้วยยาง บ้านวังโจด หมู่ที่ 15 ต.ห้วยเตย อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 – 25 ธันวาคม 2560
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับรูปแบบในการก่อสร้างฝายเป็นแบบเทคานกันลอดด้านหน้า และเทคานกันลอดด้านหลัง มีการรวมพลังในรูปแบบประชารัฐ ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและกำลังจากชาวบ้านมาช่วยสร้าง ส่งผลให้เกิดความสามัคคี สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดความผูกพันเป็นเจ้าของอีกด้วย
ด้านนายฉลอง พึ่งโคกสูง ในนามประชาชนเจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า ชาวบ้านขอขอบคุณการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะผู้ดำเนินการก่อสร้าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขา อำเภอกุดรัง ผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ร่วมใจสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริฯ โครงการสร้างฝายถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กับประชาชนในพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าในอนาคตฝายแห่งนี้จะสามารถช่วยชะลอการชะล้างพังทลายของดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ชุมชน สร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพในช่วงฤดูแล้ง ทำให้คุณภาพชีวิตชาวบ้านดียิ่งขึ้นต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: