มหาสารคาม – เผยที่มาหีบบรรจุสรีระสังขาร เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง ”หลวงพ่อคูณ”พร้อมเครื่องประกอบภายในอันงดงาม
หลังการมรณภาพของพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือหลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2558 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำมาซึ่งความเศร้าโศกแก่ศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธาหลวงพ่อคูณเป็นอย่างยิ่ง ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้มากมายทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล สาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเจริญแก่สังคมและบ้านเมือง พร้อมด้วยคำสอนที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยธรรมอันลึกซึ้งของหลวงพ่อ กระตุกเตือนสติและเตือนใจให้ระลึกถึงความดี ปฏิบัติชอบ จึงเป็นที่มาของคำยกย่องเชิดชู จากเหล่าศิษยานุศิษย์ให้ท่านเป็นดั่ง “เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง”
ด้วยแรงศรัธาที่ตั้งใจตอบแทนคุณงามความดีใต้พัทธสีมาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ คณบดีคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวต่อคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอปวารณารับใช้หากขาดเหลือสิ่งใดในพิธีพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของหลวงพ่อคูณ ซี่งในเวลาต่อมา ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้มอบให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงศ์ และคณะ ทำหีบบรรจุสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ เพื่อใช้ในพิธีบำเพ็ญกุศล อุทิศถวายหลวงพ่อในวาระสุดท้ายอย่างสมเกียรติ นั้นจึงเป็นที่มาของหีบบรรจุสรีระสังขาร อันงดงามทั้งในเชิงศิลป์และแฝงด้วยธรรมะอันลึกซึ้ง
โดย ผศ.ดร. สมชาย แก้ววังชัย หนึ่งในทีมที่ได้รับเกียรติให้จัดทำหีบบรรจุสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ เปิดเผยว่า หีบบรรจุสรีระสังขารสร้างจากไม้สนหอม สนไซเพรสฝูเจี้ยน หรือ ไม้โลงเลง (โรงเรง โหรงเหรง) ชื่อสามัญคือ Fujian Cypress ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Fokienia hodginsii ที่เกิดบนภูเขาสูง มีมากในประเทศลาว บนยอดเชียงขวาง ซึ่งดินแดนแถบนั้นมีประวัติเกี่ยวกับการจาริกธุดงค์ของพระเทพวิทยาคมในการแสวงหาวิโมกขธรรม ไม้ชุดนี้ได้เก็บรักษาไว้ตั้งแต่ปีปี 2556 ใช้ช่างเวียดนามในประเทศลาวเป็นผู้ประกอบขึ้นรูปหีบ มีลักษณะคล้ายหีบ “ทรงธรรม” ฝาเข้าลิ้น โดยใช้ไม้แผ่นเดียวต้นเดียว จำนวน 4 แผ่น แผ่นพื้นล่างกว้างถึง 70 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เป็นพื้นหีบ เมื่อประกอบเข้ารูปหีบมีขนาดกว้าง 77 เซนติเมตร ยาว 207 เซนติเมตร สูงรวมฝา 77 เซนติเมตร
ฝาหีบสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ นูน ๓ ชั้น ด้านล่างสุด เป็นรูปเครือเถาว์พันธุ์ไม้ และรูปนกจากคำบอกเล่าชีวประวัติของศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อ ในบั้นปลายชีวิตท่าน ทุก ๆ เย็นท่านจะให้เข็นรถของท่านมาดูนกและพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ท่านได้นำมาปลูกไว้ภายในวัด ส่วนชั้นกลาง เป็นทองทึบไม่มีลวดลายใด ๆ และชั้นบนสุด เป็นลายสามอย่างประกอบกัน
ช่วงด้านศรีษะหลวงพ่อ เป็นลายธรรมจักร แสดงถึงธรรมอันประเสริฐที่หลวงพ่อได้พบ ได้เข้าถึงธรรมนั้น ๆ ถัดมาเป็นลายเทพพนม เป็นการแสดงถึงการบูชาหลวงพ่อจากทวยเทพทั้งปวง มีลายพรรพฤษก พรรณไม้ สัตว์หิมพานต์ และตรงกลาง เป็นลายแสงอาทิตย์ แสดงถึงการโปรดสรรพสัตว์ของหลวงพ่อ เมตตามหาทานที่หลวงพ่อได้ปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายยังไว้ซึ่งความอบอุ่นร่มเย็นส่องสว่างไปทั่วสารทิศ
หลังจากได้หีบบรรจุสรีระองค์หลวงพ่อที่ผ่านการขัดแต่ง และลงสีพื้นเป็นที่เรียบร้อย ศิลปินที่มีความศรัทธาในองค์หลวงพ่อคูณกลุ่มที่มีหน้าที่รังสรรค์ลายรดน้ำ ได้เริ่มวาดภาพ และลวดลายตามจินตนาการลงบนกระดาษไข จนแล้วเสร็จ แล้วนำไปลอกลายลงบนผิวหีบสรีระองค์หลวงพ่อด้วยดินสอพอง แล้ววาดภาพ และลวดลายอีกครั้งบนผิวหีบสรีระองค์หลวงพ่อด้วยแป้งหอระดานจนเสร็จสมบูรณ์ ครบถ้วน หลังจากนั้นทาทับด้วยสี Flex ทั้งหมด แล้วปิดทองคำเปลวจนเต็มพื้นที่ สุดท้ายตามด้วยการพ่นน้ำ หรือรดด้วยน้ำ เพื่อล้างทองคำเปลวที่ไม่เกี่ยวข้องกับลวดลายออก จนเกิดเป็นภาพลายรดน้ำอันวิจิตร บรรจง เต็มทุกผนังด้านนอกของหีบบรรจุสรีระสังขารองค์พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
เครื่องประกอบภายในหีบบรรจุสรีระสังขารองค์พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เสื่อไม้ไผ่สานเนื้อละเอียดย้อมสีธรรมชาติจักสานเป็นลายแม่บทอีสาน จำนวน 4 ลายแบ่งเป็น 5 แผ่น นำมาเย็บต่อเป็นพื้นปูหีบด้วยผ้าไหมลายแม่บทอีสาน 4 ลาย ประกอบด้วย
1. ลายโคมขัดขาตะขาบ
โคม หมายถึง แสงสว่างของ ศีล สมาธิ ปัญญา ตะขาบ เป็นสัตว์ที่มีพิษ สื่อถึง กิเลส ตัณหา ความโลภ โกรธ หลง
เพื่อสื่อถึงธรรมปัญญาขององค์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่ขจัดกิเลสตัณหาของสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวง
2. ลายตะขาบอุ้มดอกแก้ว
ตะขาบ เป็นสัตว์ที่มีพิษ สื่อถึง กิเลส ตัณหา ความโลภ โกรธ หลง ดอกแก้ว หมายถึง ดอกไม้ขาวบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนธรรมอันบริสุทธิ์ เพื่อสื่อถึงธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่แผดเผากิเลสทั้งปวง ไม่ให้เกิดความอยาก และสื่อถึงความเมตตาขององค์หลวงพ่อที่มีต่อพุทธศาสนิกชน
3. ลายขัดสามอุ้มพวงมาลัย
ขัดสาม คือ การขัดเกลากิเลสตัณหา อันประกอบด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ พวงมาลัย คือ เครื่องบูชา ด้วยความนอบน้อม เพื่อสื่อถึงการสักการะบูชาความนอบน้อมต่อองค์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ การขัดเกลากิเลส ชำระจิต และกายในให้ว่างด้วยความบริสุทธิ์
4. ลายใบโพธิ์ อุ้มดอกชาเปีย
ใบโพธิ์ คือ ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ประจำพระพุทธศาสนา ดอกชาเปีย สื่อถึง อริยสัจ 4 หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งดอกชาเปีย มี 4 ขา หมายถึง อริยสัจ 4 เปรียบเสมือนไม้ค้ำต้นโพธิ์ อันหมายถึง ศาสนา เพื่อสื่อถึงหลักธรรมคำสอนขององค์หลวงพ่อ
นอกจากนี้ยังมี เครื่องประกอบภายในหีบบรรจุสรีระสังขารองค์พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แนวความคิด ยึดหลักจากลวดลาย และประเพณี วัฒนธรรมของภาคอีสาน เน้นความเรียบง่าย เป็นวัสดุโดยแท้จากธรรมชาติ และสลายไปพร้อมกับเพลิงที่จะถวายแด่องค์หลวงพ่อ ประกอบด้วย 1.หมอน ตัวหมอนเป็นฝ้ายแท้ภายในบรรจุ(ยัด) ด้วยฝอยไม้เนื้อหอมหลายชนิด เช่น ไม้จันทน์หอม ไม้โลงเลง (สนหอม) เป็นต้น 2. ปลอกหมอน เป็นฝ้ายแท้สลับไหมเก็บขิดทอลายอีสาน 3. หมอนประคองสรีระ จำนวน ๒ ใบ ขนาบข้างสรีระหลวงพ่อ 4. ผ้าไหม ๒ ผืนสำหรับคลุมสรีระหลังบรรจุ และผ้าห่อโถบรรจุชิ้นเนื้อหลังการศึกษา 5. โถไม้หอมแกะสลักลวดลายราชสีห์ดั้นดอกบัวสวรรค์(บัวไขกาบ) สำหรับบรรจุชิ้นเนื้อขนาดเล็กๆ ที่เกิดจากการศึกษาสรีระหลวงพ่อ และ 6.เสื่อไม้ไผ่สานเนื้อละเอียดย้อมสีธรรมชาติจักสานเป็นลายแม่บทอีสาน จำนวน ๔ ลายแบ่งเป็น ๕ แผ่นนำมาเย็บต่อเป็นพื้นปูหีบด้วยผ้าไหม
ผศ.ดร. สมชาย แก้ววังชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลงานชิ้นนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้หากไม่ได้พลังศรัทธาจากคณาจารย์ พี่น้องและผู้ใหญ่ใจดีจากจังหวัดนครราชสีมาที่มีจิตอันเป็นกุศลร่วมกัน พลังความร่วมมือของนิสิตที่มาช่วยออกแบบและสร้างงาน และโดยเฉพาะหัวเรือใหญ่อย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ ที่ให้การสนับสนุนจนหีบบรรจุสรีระสังขารจนแล้วเสร็จและสามารถส่งมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปบรรจุร่างหลวงพ่อคูณเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำหีบหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ นอกจากความสุขใจที่ได้ทำงานถวายหลวงพ่อที่เคารพศรัทธา ตนยังได้เรียนรู้ว่า การทำงานใดๆ จะสำเร็จได้ง่ายดาย หากเรามีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือ งานครั้งนี้ผมได้มิตรเพิ่มขึ้นมากมาย
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก ผศ.ดร. สมชาย แก้ววังชัย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: