มหาสารคาม – “มมส” ยกเลิกเปิด-ปิดภาคเรียนการศึกษาจากแบบอาเซียน กลับไปใช้ระบบเดิม เริ่มมิถุนายน ปี พศ.2563
มมส หรือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ยกเลิกเปิด-ปิดภาคเรียนการศึกษาจากแบบอาเซียน กลับไปใช้ระบบเดิม โดยล่าสุดศาสตราจารย์ปรีชา ประเทพา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้ลงนามในประกาศ เรื่อง ปฏิทินการศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียนการศึกษาจากแบบประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ภาคเรียนที่ 1 เดือนสิงหาคม-ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคม-พฤษภาคม กลับมาเป็นแบบเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เดือนมิถุนายน- ตุลาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนพฤศจิกายน-เมษายน โดยจะเริ่มเปลี่ยนเวลาเปิดเทอม 1 เป็นเดือนมิถุนายน ในปี พศ.2563 ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลต่อระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนการศึกษาพิเศษปี 2561 มีรายละเอียดช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนจึงขอให้ผู้ปฏิบัติงาน นิสิตและผู้เกี่ยวข้อง ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกองทะเบียนและประมวลผล และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ มมส.ได้เข้าร่วมการเปิด – ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ปรับเวลาของภาคเรียนที่ 1 เริ่มเปิดเดือนสิงหาคม – เดือนธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม และปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม เพื่อให้ตรงกับการเปิดภาคเรียนของประเทศสากลทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน กำลังจะรวมกันเป็นประชาชคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดความสอดคล้องกันในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอุดมศึกษาในทุกๆ ด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ และนักศึกษา หรือการผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับตลาดอาเซียน รวมไปถึงสามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้สะดวกเมื่อปฏิทินการศึกษาตรงกัน
แม้ขณะนั้นจะมีเสียงสะท้อน จากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เนื่องจากการเปิดปิดภาคเรียนของไทย จะหลีกเลี่ยงช่วงฤดูร้อน และฤดูน้ำหลาก เพราะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงหน้าน้ำ จะส่งผลให้การเดินทางไปเรียนหนังสือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ฉะนั้น หากปรับเวลาเปิดภาคเรียนเป็นช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนธันวาคม ก็จะเป็นช่วงหน้าน้ำพอดี อาจจะกระทบกับการเรียนการสอนหรือไม่ นอกจากนี้การเปิดภาคเรียนที่ 2 ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนพอดี และตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญและเป็นวันหยุดยาว กระต่อเวลาเรียนนิสิตนักศึกษา
ทั้งนี้เมื่อการเปิด-ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ผ่านไปได้ไม่กี่ปี กลับพบปัญหาตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วงเวลาเปิดเทอมที่ไปกระทบต่อวิถีชีวิต ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม อากาศร้อนมาก ส่งผลให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน สาขาวิชาเกษตรก็ไม่มีน้ำใช้ในการทดลอง พืชที่ปลูกในช่วงเวลานี้เหี่ยวแห้งให้ผลผลิตไม่เต็มที่ ส่วนเด็กและอาจารย์ที่เรียนในอาคารต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน จนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายค่าน้ำ-ไฟสูงขึ้น การเปิดเทอมในช่วงปลายปีกระทบต่อครอบครัวที่ต้องใช้แรงงานลูกหลานในการปลูกพืชหรือเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นตั้งแต่ปี 2558 จึงเริ่มมีหลายมหาวิทยาลัยกลับมาเปิด-ปิด ภาคเรียนตามเดิม รวมไปถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ มมส ที่กำลังเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนเป็นแบบเดิมเช่นกัน
อ่านข่าว “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”เพิ่มเติม
♦มมส ลุยติดตั้งโซล่าเซลล์ทั่วมหาวิทยาลัย หวังลดค่าไฟระยะยาว
♦19 พรรคการเมือง ตบเท้าขึ้นเวที นำเสนอนโยบายมัดใจคนอีสาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: