มหาสารคาม – ต่อยอดโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร จับมือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต เสริมช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดใหม่ ดันรายได้เกษตรกรมั่นคงยั่งยืน
นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายกำธร เปาะลำพงษ์ สหกรณ์ จ.มหาสารคาม นายนายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้า จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยผู้แทนสถาบันเกษตรกร ผู้แทนสถาบันการศึกษา และผู้แทนบริษัทสริมไทยคอมเพล็กซ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร ปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะมีผลให้เกิดการช่วยเหลือและสนับสนุนสหกรณ์ในเรื่องการพัฒนาผลผลิตและการจัดการด้านการตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้แก่สหกรณ์การเกษตรบรบือ และสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย จำกัด โดยนับเป็นการขยายผลความสำเร็จของโครงการดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรอำเภอบรบือ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม A เป็น 1 ใน 62 สหกรณ์ ใน 43 จังหวัด ที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม จากความร่วมมือระหว่างหอการค้า จ.มหาสารคาม และสหกรณ์การเกษตรบรบือ จนมีผลงานสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าข้าวแบบเห็นผลเป็นรูปธรรม
นายกำธร เปาะลำพงษ์ เปิดเผยว่า ความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างหอการค้า จ.มหาสารคาม และสหกรณ์การเกษตรบรบือ คือมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าข้าวเพิ่มขึ้นและมียอดสั่งซื้อต่อเนื่อง คือ จำหน่ายในโรงแรมตักสิลา เฉลี่ยอาทิตย์ละ 500-600 กิโลกรัม, จำหน่ายในบริษัทสยามแมคโคร สาขามหาสารคาม ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงจำหน่ายภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.มหาสารคาม, โรงเรียนสาธิต ม.มหาสารคาม โดยคิดเป็นร้อยละ 70 จากยอดขายข้าวสารของศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ เมื่อเทียบกับยอดขายก่อนหน้าเข้าร่วมโครงการ
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมเบื้องต้น สินค้าข้าวของสหกรณ์การเกษตรบรบือ แบรนด์ข้าวสารตักสิลา ที่สำคัญคือข้าวสารตักสิลาพลัส หรือข้าวลดน้ำตาล ที่เป็นผลงานพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มาจากงานวิจัยพัฒนาของ มหาวิทยาลัย ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรบรบือ จะถูกนำมาจำหน่ายภายในห้างเสริมไทยฯมหาสารคาม เช่นเดียวกับลูกประคบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆของสหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับ ม.มหาสารคาม
ประธานหอการค้า จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรบรบือ ทำให้เห็นทิศทางการดำเนินงานร่วมกันชัดเจนขึ้น จนสามารถขยายผลมาสู่สหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรไทย โดยมองว่าแนวโน้มความนิยมสมุนไพรไทยยังเติบโตได้ โดยหอการค้าและเครือข่ายจะช่วยสนับสนุน เช่นเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือเชิงวิชาการ ก็จะมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปส่งเสริม ส่วนหอการค้าและภาคเอกชนจะช่วยดูเรื่องช่องทางการจำหน่าย หรือการทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่นขนาดสินค้า หรือเรื่องของราคา เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง ส่วนการต่อยอดไปสู่สหกรณ์อื่นๆ หอการค้าก็มีแนวทางจะดำเนินการเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูความพร้อมและศักยภาพสหกรณ์การเกษตรแต่ละแห่งเป็นรายๆไป
จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมเข้าเยี่ยมชม Smart farmer Market ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จด้านการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยกับเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในกระบวนการผลิตและการตลาด จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ราย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: