มหาสารคาม – เปิดประสบการณ์ย้อนอดีตเรื่องเล่าพุทธศาสนาและวิถีชีวิตอีสาน ผ่านโบราณสถาน “ฮูปแต้ม” เก่าแก่กว่า 100 ปี และชมวิธีใช้ทุนวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวในท้องถิ่น
นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ร่วมชมความงดงามของ “ฮูปแต้ม”(จิตรกรรมฝาผนัง)เล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ความเชื่อและวิถีชีวิตชาวบ้าน บนผนังของ “สิม” (พระอุโบสถ) ที่เก่าแก่ อายุกว่า 100 ปี ณ วัดโพธาราม ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม และสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ภายในงาน “ฮักแพง เบิ่งแงงฮูปแต้มดงบัง และงานบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ ประจำปี 2561” โดยบูรณาการร่วมกับโครงการหนึ่งคณะ หนึ่งศิลปวัฒนธรรม และโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และบริษัทประชารัฐฮักสามัคคีมหาสารคาม วิสาหกิจเพื่อสังคม
กิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีฮูปแต้ม เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ เยาวชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะได้ใช้เทคนิคการวาดและการใช้สีอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ฮูปแต้มบนกระดาษที่สวยงามเสมือนปรากฏอยู่บนฝาผนังของสิม โดยระดับประถมศึกษา กำหนดให้ใช้สีไม้ ระดับมัธยมศึกษาและประชาชน ให้ใช้สีโปสเตอร์หรือสีอะคลิลิค ชิงรางวัลทุนการศึกษารวมกว่า 14,000 บาท
ด.ญ.สุนิสา พิลาโสภา ชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านหนองจิก ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม บอกว่า เคยเห็นฮูปแต้มเป็นครั้งแรก และรู้สึกชอบทันที เพราะมีความสวยงามและดูเป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน จึงตัดสินใจลงประกวดแข่งขันวาดภาพฮูปแต้ม เพื่อจะได้เข้าใจและรู้จักฮูปแต้มมากขึ้น รวมทั้งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเผยแพร่ และอนุรักษ์ฮูปแต้ม ถ้ามีโอกาสก็จะช่วยดูแลไม่ให้ใครมาขีดเขียนทำลายฮูปแต้มด้วย
ส่วนพื้นที่อื่นภายในวัด ถูกประดับตกแต่งไปด้วยซุ้มของกิจกรรมและนิทรรศการงานวัดจากชุมชนตำบลดงบัง และหน่วยงานราชการ มีการจำหน่ายสินค้าของดีจังหวัดมหาสารคาม จำลองวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้านดงบัง ซึ่งปรากฏหลักฐานการอพยพของชาวลาวมายังดินแดนอีสานในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินธุ์ ที่สำคัญยังมีนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม จัดซุ้มโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงสินค้าชุมชนกับฮูปแต้ม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจให้กับชุมชน
อาจารย์ กันตา วิลาชัย รองคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ฝ่ายบริหาร ม.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “สิม” และ “ฮูปแต้ม” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ชุมชนดงบังได้นำมาใช้ประโยชน์และร่วมกันอนุรักษ์ มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมดำเนินการอนุรักษ์ พัฒนา ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในชุมชน เช่น การทอผ้าไหมลายฮูปแต้ม การขับร้องสารภัญญะจากเรื่องราวในฮูปแต้ม การทำหนังปะโมทัย เป็นต้น ส่วน ม.มหาสารคาม เข้ามาจัดกิจกรรมทัศนศึกษา การอบรมมัคคุเทศก์ การอบรมความรู้เรื่องการอนุรักษ์ และนำฮูปแต้มมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น แก้วน้ำลายฮูปแต้ม เสื้อสรีนลายฮูปแต้ม ปลอกหมอน สมุดบันทึกลายฮูปแต้ม เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “สานทุนวัฒนธรรม นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่าน ฮูปแต้มมหาสารคาม”
“สิม” หรือพระอุโบสถ วัดโพธาราม ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2451 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นในสมัยที่พระครูจันดีเป็นเจ้าอาวาส(2441-2473) โดยพลังศรัทธาของชาวดงบัง ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากศิลปะญวน ลักษณะสิมเป็นสิมมหาอุตเพราะมีทางเข้าเพียงทางเดียว มีขนาดความกว้าง 14 เมตร ยาว 20 เมตร มีหลังคายื่นออกมากว้างให้นั่งพักรอพิธีกรรมได้ มีฮูปแต้มงดงามมาก โดยสิมจะใช้ทำสังฆกรรม บรรพชาอุปสมบท
ส่วน “ฮูปแต้ม” ปรากฏทั้งผนังด้านในและด้านนอกของสิมทั้ง 4 ด้าน มีการแต้มเรื่องราวต่างๆ ประกอบด้วย พุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก พระมาลัย สังข์ศิลป์ไชย(สินไซ) รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านอีสาน การวาดภาพทั้งด้านในและนอกเป็นคติของคนอีสานต่างจากภาคอื่น เพราะต้องการสอนญาติโยมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อรออยู่ด้านนอกจะได้เห็นภาพวาดเป็นสื่อการสอนธรรมอย่างดี และให้ชาวพุทธได้ทบทวนเรื่องศีล สมาธิและปัญญาอีกทางหนึ่งด้วย
มีการเล่ากันสืบมาว่าผู้วาด คือช่างพื้นบ้าน นามว่า ช่างสิงห์ วงศ์วาด และจารย์ซาลาย เป็นการวาดที่มีความละเอียดงดงาม ตามลักษณะของศิลปะอีสาน โดยสีวรรณเย็น เช่น สีขาว สีฟ้าคราม ได้จากการนำเปลือกไม้มาต้ม ดูแล้วสบายตาและแฝงด้วยคติธรรม โดยกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 วันที่ 26 ธันวาคม 2545
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: