นายสัตวแพทย์ธนิตน์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ได้เห็นชอบให้มีแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งมีการกำหนดมาตรการหลายด้าน มาตรหนึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2560 – 2564 เป้าหมาย 1 ล้านไร่ เพื่อส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป้าหมายรับสมัครปี 2560 จำนวน 300,000 ไร่ ปี 2561 จำนวน 300,000 ไร่ และปี 2562 จำนวน 400,000 ไร่ โดยเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้น จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 2,000 บาทต่อ 1 ไร่ ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ จากนั้นในปีที่ 2 เมื่อผ่านการตรวจรับรองสู่ระยะปรับเปลี่ยน จะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 3,000 บาทต่อไร่ ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ และปีที่ 3 เมื่อผ่านการตรวจรับรองระบบอินทรีย์ จะได้รับเงินอุดหนุน ไร่ละ 4,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่
ในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม การดำเนินการปี 2560 มีกลุ่มเกษตรกรได้สมัครเข้าร่วมโครงการกลุ่มระยะเตรียมความพร้อม(T1) จำนวน 12 กลุ่ม 295 ราย รวมพื้นที่ 2,955 ไร่ และระยะปรับเปลี่ยน (T2) 7 กลุ่ม 206 ราย พื้นที่ 2,146.75 ไร่ ผลการตรวจรับรองกลุ่ม T1ผ่านการตรวจรับรอง 10 กลุ่ม จำนวน 241 ราย พื้นที่ 2,293 ไร่ ได้รับเงินอุดหนุนรวม 4,306,000 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2561 ส่วนกลุ่ม T2 อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติงบประมาณ เป้าหมายส่วนหนึ่งของโครงการนี้คือการส่งเสริมเกษตรกรรายใหม่ การให้เงินชดเชยเพื่อให้เป็นตัวอย่งกับเกษตรกรรายอื่นๆ และเป็นขวัญกำลังใจ เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จะไม่ใช้สารเคมีได้เลย ผลผลิตอาจจะลดลงในช่วงแรกระหว่งการปรับเปลี่ยนต่างๆ นอกจากนั้น เงินชดเชยตรงนี้ต้องการให้นำไปปรับปรุงพื้นที่ให้มีเขตกันชนระหว่างพื้นที่เกษตรอินทรีย์กับพื้นที่เกษตรทั่วไป รวมถึงการนำไปปรับปรุงคุณภาพดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่ผลผลิตที่สูงขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
สำหรับภาพรวมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ ในระยะเตรียมความพร้อมของเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ถือว่ายังเข้าร่วมโครงการค่อนข้างน้อย โดยทั้งประเทศมีเกษตรกรเข้าร่วม 710 กลุ่ม พื้นที่รวมเกือบ 2 แสนไร่ รัฐบาลสนับสนุนเงินให้ประมาณ 380 ล้านบาท แต่ระยะปรับเปลี่ยนของมหาสารคาม ก็มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จึงขอเชิญชวนเกษตรกรได้สมัครเข้าร่วมโครงการได้ภายใน ปี 2562 หากยังไม่ครบตามเป้าหมายก็อาจจะขยายเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไปจนถึงปี 2564 โดยในปีแรกทั่วประเทศ มีเกษตรกรสมัครเกือบ 2 แสนไร่ ส่วนปีนี้สมัครเข้าร่วมแล้วกว่า 4 แสนไร่ ซึ่งการดำเนินการตรวจรับรอง รัฐบาลโดยกรมการข้าวจะดำเนินการให้เกษตรกรฟรี ส่วนเรื่องเงินชดเชยที่รัฐบาลจ่ายให้ จะโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.ของเกษตรกรโดยตรง
ส่วนความเข้าใจเรื่องการเกษตรรูปแบบต่างๆนั้น หลายคนยังมีความสับสนอยู่ และมีผลต่อการตลาดโดยตรง คือเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย คือใช้สารเคมีได้บางส่วนตามเกณฑ์มาตรฐาน เรียกว่า GAP มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนเกษตรอินทรีย์ คือห้ามใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิต ผู้บริโภค และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งความต้องการของข้าวอินทรีย์ในตลาดโลกในปัจจุบันมีความต้องการสูงมาก และราคาก็ต่างกันมากเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนโครงการนี้มาในปีแรก มีเป้าหมายสนับสนุนผลผลิต 2,000 ตัน เพื่อนำไปขายโดยจะได้รับสิทธิพิเศษเรื่องภาษี และกำลังจะขยายตลาดออกไปที่อเมริกา ซึ่งในเรื่องการตรวจรับรองเพิ่มเติมของประเทศคู่ค้า กระทรวงพาณิชย์อาจจะสนับสนุนเรื่องค่าดำเนินการตรวจสอบเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง
ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ เป็นแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัย ของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบทั้งเรื่อง พืช สัตว์ และการประมง
นางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2,800,000 ไร่ และมีพื้นที่ทำนาประมาณ 2,320,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 82.61 มีพื้นที่ทำนาในเขตชลประทานประมาณ 550,000 ไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่ทำนาในเขตน้ำฝน และมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวขึ้นทะเบียนประมาณ 144,000 ครัวเรือน การจัดคุณภาพผลผลิตข้าวของจังหวัดมหาสารคาม จัดเกรดมาตรฐานการผลิตออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.มาตรฐาน GAP มีเกษตรกรผ่านเกณฑ์จำนวน 3,345 ราย 2.มาตรฐานอินทรีย์รับรองตนเอง(PGS) มีเกษตรกรผ่านเกณฑ์จำนวน 187 ราย นอกจากนี้มีเกษตรกรบ้านหนองนกเขียน ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวหอมมะลิระดับประเทศ ในปี 2559 ซึ่งจัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: