เพชรบุรี-ถึงเวลาต้องมีตู้ฆ่าเชื้อโคโรนา 2019 ด้วยแสงยูวี ไว้ใช้ในหน่วยงานหรือครัวเรือน ทางเลือกปลอดภัย ลดความเสี่ยงได้ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด19 ที่น่าจะอยู่กับเราอย่างน้อยตลอดปี 2563
หลายคนเชื่อว่าเชื้อไวรัสโควิด 19 จะยังอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน ดังนั้นทำอย่างไรที่จะลดโอกาสในการรับเชื้อไวรัสดังกล่าว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงคิดค้นตู้หรือกล่องอบฆ่าเชื้อไวรัสขึ้นมาเป็นทางเลือกสามารถมีไว้ติดตั้งภายในบ้านพักหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาไม่ถึง 1,000 บาท
ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในชีวิตประจำวัน หลังเรากลับเข้าบ้าน ทั้งเสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ ธนบัตร กระเป๋าสตางค์ กุญแจรถ รวมทั้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ในแต่ละวัน มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ตามมาด้วย แม้เราจะใส่แมสและล้างมือด้วยเจลแล้วก็ตามเพราะเป็นคนละส่วนกัน ทำอย่างไรเราจะฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเครื่องครัว ขวดนม ผ้าอ้อม และเครื่องใช้ในครัวเรือนมาทำการฆ่าเชื้อได้อีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
ขณะที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์ได้ช่วยกันคิดโดยนำหลักการ การฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี (ยูวี-ซี) ที่มีใช้อยู่แล้วในทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้ในการทำตู้หรือกล่องฆ่าเชื้อไวรัสขึ้นใช้ภายในครัวเรือนช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้ออย่างง่าย เพราะสามารถหาซื้อหลอดยูวี มาติดตั้งในกล่องหรือตู้ระบบปิด ขนาดพอเหมาะกับเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องครัวที่จะทำการฆ่าเชื้อ
การผลิต
หลักการคือ 1)นำหลอดยูวี 1 หลอด ขนาด 6-15 วัตต์ มาติดตั้งในตู้หรือกล่องที่สามารถเปิด-ปิดได้ โดยภายในตู้หรือกล่อง นำเอาแผ่นฟอยด์มาบุติดไว้เพื่อให้เกิดการกระจายแสง (หากไม่ต้องการให้มีการสัมผัสกับตู้หรือกล่องก็ทำการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เปิดเปิด-ปิด ตู้หรือกล่องได้) 2)นำเสื้อผ้า เครื่องใช้ กระเป๋าสตางค์ ธนบัตร กุญแจรถ ฯลฯ ที่ต้องการฆ่าเชื้อมาใส่ (ระยะห่างหลอดไม่เกิน 50 ซม.) ปิดฝาและเปิดสวิสท์ ให้หลอดยูวีทำงาน ทิ้งไว้ ประมาณ 2 -5 นาที (ตามความเหมาะสม) เป็นอันสิ้นสุดการทำงาน ทั้งนี้สำหรับ จำนวนหลอดยูวี และระยะเวลาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ สามารถปรับเพิ่ม-ลด ได้ตามจำนวนหลอดและจำนวนวัตต์ที่นำมาใช้ สำหรับตู้หรือกล่องสามารถดัดแปลงที่มีอยู่แล้วและไม่ได้ใช้งานมาใช้ได้
ราคาไม่เกิน หนึ่งพันบาท
อาจารย์อิทธิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ชุดฆ่าเชื้อไวรัส สามารถทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน ราคาต่อชุด ไม่เกิน หนึ่งพันบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนหลอดยูวี และจำนวนวัตต์ที่ใช้ และสามารถดัดแปลงตู้หรือกล่องที่ไม่ได้ใช้งานมาประยุกต์ใช้งานได้ (ต้องเป็นระบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้แสงยูวี สัมผัสร่างกายและดวงตา ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้)
สำหรับนักศึกษาเจ้าของโครงการตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสประกอบด้วย 1. นายอัศวรักษ์ ศรีสุขอร่าม 2. นายจารุวัฒน์ ทองระย้า 3. นายเอกพัน อุ่นมั่น 4. นายวิศรุต วิชาจารย์ อาจารย์ที่ปรึกษา ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม โทร 088-6874777.////
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: