ประวัติ หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง พระพุทธลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หล่อด้วยสำริด ศิลปะเชียงแสน มีขนาดหน้าตักกว้าง 21 นิ้ว และสูง 29 นิ้ว ปิดทองคำเปลวอร่ามทั้งองค์ ไม่มีหลักฐานระบุสร้างปีใด ใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานเอ่ยถึง
โดยเรื่องที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด มีรายละเอียด ดังนี้ มีพระสงฆ์ 2 รูป สามเณร 1 รูป ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน และมีฤทธิ์เดชเวทมนต์แรงกล้ามาก ทั้ง 3 ได้ทดลองวิชา โดยพระรูปแรกได้ทำน้ำมนต์ไว้ และสั่งพระรูปที่ 2 ว่า “เดี๋ยวจะกระโดดลงน้ำแล้วจะกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา แล้วให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปก็จะกลับเป็นพระสงฆ์ตามเดิม” แต่เมื่อพระรูปแรกกระโดดลงไปแล้วลอยขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป พระรูปที่ 2 ก็ไม่รดน้ำมนต์ให้ โดยบอกว่า “เมื่อพี่ทำได้เราก็ทำได้” และได้สั่งให้สามเณรรดน้ำมนต์ให้ แล้วก็กระโดดลงน้ำกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาอีก ด้านสามเณร เมื่อเห็นว่าพระทั้ง 2 รูปทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน จึงกระโดดลงน้ำแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ โดยที่ไม่มีใครนำน้ำมนต์รดให้ จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำอยู่เช่นนั้น
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- สงขลา M79 ถล่มเเคมป์คนงานสร้างเจ้าแม่กวนอิม บาดเจ็บ 3 ราย พื้นที่ อ.เทพา
- สูงวัยตรัง ปลื้ม เตรียมตัวรับเงินหมื่น ฝันใช้ยามแก่-ต่อยอดอาชีพบั้นปลาย
- บุรีรัมย์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ชี้ควรเพิ่มหลีกแข่งขันในไทยเชื่อเศรษฐกิจพุ่งแน่นอน (มีคลิป)
องค์จำลอง หลวงพ่อทองวัดเขาตะเขา ในวัดเขาตะเครา
องค์จำลอง หลวงพ่อบ้านแหลม ในวัดเขาตะเครา
องค์จำลอง หลวงพ่อโสธร ในวัดเขาตะเครา
ต่อมาได้แสดงอภินิหารโดยลอยทวนน้ำไปขึ้นที่ ช.พัน 2 ทหารช่างอยุธยา ภายหลังเรียกว่า คุ้ง 3 พระทวน ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น สัมประทวน ช่วงเวลาต่อมา ได้ลอยน้ำโดยเอาเศียรวน ไปอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเห็นและมีผู้นำสายสิญจน์ไปผูก พร้อมปลูกศาลเพียงตา อาราธนาอัญเชิญองค์กลางขึ้นไว้ได้ 1 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธรวราราม มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อโสธร” จ.ฉะเชิงเทรา เหลืออีก 2 องค์ ลอยมาโผล่ที่ชายทะเลแถบ จ.สมุทรสงคราม ชาวบ้านจึงได้ใช้เชือกจำนวน ๓ เส้น ผูกพระพุทธรูปเพื่อดึงขึ้นฝั่ง แม้จะใช้คนจำนวนมาก ก็ไม่สามารถดึงขึ้นได้ จนเชือกขาดทั้ง 3 เส้น พระพุทธรูปจึงจมน้ำหายไป ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า สามเส้น และต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น สามเสน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2302 สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ปากคลองแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ซึ่งวัดนี้ในอดีตมีชื่อว่าวัดศรีจำปา ระหว่างที่ชาวประมงได้ออกเรือหาปลา ได้ลากอวนไปติดพระพุทธรูป 2 องค์ โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง และอีก 1 องค์เป็นพระพุทธรูปแบบยืน จึงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปปางยืน ไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ส่วนพระพุทธรูปอีก 1 องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ ได้มอบให้ชาวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นพี่น้องในย่านน้ำเดียวกัน ชาวบางตะบูนจึงได้นำมาประดิษฐาน ไว้ที่ วัดเขาตะเครา และเรียกชื่อว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”
เจ้าอาวาส เล่าประวัติหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา
พระมงคลวชิราจารย์ (หลวงพ่อสุข) เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา ได้เล่าถึงที่มาของชื่อหลวงพ่อทองแห่งวัดเขาตะเครา ว่า เดิมชาวบ้านจะเรียกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นที่เคารพบูชาของชาวประมงเป็นอย่างมาก แต่ได้มาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา” หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ขึ้น เมื่อตอนกลางคืนของวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2527 ขณะที่อาตมาจำวัด ได้ฝันว่า มีพระอายุมากรูปหนึ่งนำถุงบรรจุทองคำยื่นให้ พร้อมกับพูดว่า ‘เอาไป’ หลังจากนั้นท่านก็หายไป
ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. เศษ ของวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2527 ได้เกิดไฟลุกไหม้ท่วม องค์หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ขณะนั้นประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ขณะไฟลุกไหม้ทำให้ทองคำหลอมไหม้ไหลออกมาจากองค์หลวงพ่อทอง เมื่อนำทองคำทั้งหมดมาชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้น้ำหนักถึง 9 กิโลกรัม 9 ขีด หลวงพ่อจึงได้นำเอาทองไปจัดทำเป็นลูกอมทองไหลหลวงพ่อทอง แล้วแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนนำไปติดตัวและบูชา ได้ปัจจัยมาทั้งหมด 11 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างมณฑป โรงเรียน และศาสนสถานอื่นๆ
สำหรับลูกอมหลวงพ่อทอง ต่อมาได้เกิดปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด ทำให้ประชาชนเคารพศรัทธามากขึ้น และเรียกหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ตลอดมาถึงปัจจุบัน สำหรับ วัดเขาตะเครา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เดิมพระอุโบสถอยู่บนยอดเขา ต่อมาย้ายพระอุโบสถลงมาเชิงเขา เพื่อความสะดวกเวลาปฏิบัติศาสนกิจ แล้วอัญเชิญองค์หลวงพ่อทอง ลงมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวทางจิตใจชาวเพชรบุรี และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
พระคาถาบูชาหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” (3 จบ) “กาเยนะ วาจายะ มะยะเจตะสา มาระวิชะยัง สุวัณณะมานัง มะหาเตชัง มะหาลาภัง พุทธะปะฏิมัง เมตตาจิตตัง นะมามิหัง โอมะ ศรี ศรี ชัยยะ ชัยยะ สัพพะทุกขา อุปัททะวา สัพพันตะรายา สัพพะโรคา วินาสสันติ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม” (แล้วอธิษฐาน) นอกจากนี้ บนยอดเขาตะเครา ยังมีพระรูปองค์จำลองหลวงพ่อทอง เรียกว่าหลวงพ่อหมอ ที่มีผู้คนไปบนบานในเรื่องต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” สุนทรภู่ กวีเอกของไทย กล่าวไว้ตอนหนึ่ง ในบทประพันธ์นิราศเมืองเพชร เมื่อ พ.ศ. 2375 เป็นหลักฐานสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่าหลวงพ่อวัดเขาตะเคราหรือหลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีชาวบ้านเคารพนับถือมาช้านานแล้ว ใจความตอนหนึ่งว่า
“ครู่หนึ่งถึงเขาเคราสวาท มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบเขตที่บริเวณ พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ ขึ้นไปไหว้พระสำฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลือมาแต่บุราณ ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อนฯ “
วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ริมคลองบางครก ซึ่งแยกจากแม่น้ำเพชรบุรี ที่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไหลลงสู่อ่าวไทย ที่ปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อสร้างมาช้านาน ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสมัยใด แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏในบทประพันธ์ “เพลงยาวหม่อมภิมเสน” ในสมัยอยุธยา คือ
“ข้ามท้องสาครชะเลมา ก็ลุถึงปากน้ำบางตะเครา
ยิ่งแลเห็นเปล่าเคร้าใจใฝ่หา จรดลตามชลมารคมา
หมายตามณฑปวัดเขาดิน เห็นเหมือนมณฑปวัดศพสวรรค์
ยิ่งร้อนรัญจวนนักหนักถวิน ที่แล่นสูงล้วนฝูงกุมภินฯ”
(สมัยอยุธยา เรียกวัดเขาตะเคราว่า วัดเขาดิน)
จากบทประพันธ์นี้พอเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สันนิษฐานได้ว่า วัดเขาตะเคราเป็นวัดเก่าแก่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ
ทั้งนี้หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ในช่วงงานประจำปี จะประดิษฐานที่มณฑป ริมแม่น้ำ โดยเมื่อวันที่17 มีนาคม 2562 เวลา 16.00 น. โดยประมาณ พระครูพุทธรัตนาภิบาล เจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี เป็นประธานประกอบพิธีอาราธนาองค์หลวงพ่อทองมาประดิษฐาน ณ มณฑปริมแม่น้ำเพชรบุรี
เนื่องในงานประจำปีนมัสการปิดทององค์หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ที่จัดขึ้นในวันที่ 18-24 มีนาคม 2562 รวม 7 วัน 7 คืน สำหรับปี 2563 จะจัดเพิ่มเป็น 9 วัน 9 คืน
ชมคลิป หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา องค์จริง ที่มณฑปริมน้ำ
หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ปกติจะประดิษฐานที่้วิหารทรงไทย
ขอขอบคุณภาพ จากเฟซบุ๊ก วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี https://www.facebook.com/watkhaotakhraopetburi
และแฟนเพจ หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา
ติดตามข่าวทาง Lineคลิกด้านล่าง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: