เพชรบุรี-ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ ชี้ผลกระทบเรื่องเสียงใต้น้ำที่มีผลต่อวาฬ วอนเมื่อเข้าใจแล้ว จะได้ร่วมเป็นเครือข่ายช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันต่อไป
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ต่อกรณีที่มีผู้ขับขี่เจ็ทสกี ลงไปชมวาฬ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 ฝั่งทะเลอ่าวไทยในเขตจังหวัดเพชรบุรี ชี้เเจงสร้างความเข้าใจในเรื่องของเจ็ทสกี 3 ประเด็น คือ
1) เนื่องจากเจ็ทสกี และเรือสปีดโบ๊ท มีท่อไอเสีย อยู่ใต้น้ำ จึงก่อให้เกิดเสียงใต้น้ำได้มากกว่าเรือของชาวประมงที่มีท่อไอเสียอยู่บนผิวน้ำ ดังนั้นทั้งเจ็ทสกีและสปีดโบ๊ทก่อให้เกิดเสียง มีผลกระทบกับพฤติกรรมของวาฬบรูด้า
2) การไปชมวาฬ ของเจ็ทสกี จะไปเป็นหมู่คณะจำนวนหลายลำ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เจ็ทสกีเอง เพราะหากไปลำเดียวก็อาจจะเกิดหลงทิศทางในทะเลได้ ดังนั้นการขับเจ็ทสกีไปชมวาฬจึงมักเห็นจำนวนหลายลำ และเสียงจากเจ็ทสกีหลายๆ ลำจะยิ่งดังมากขึ้น มีผลกระทบและรบกวนวาฬบรูด้ามากขึ้น เพราะวาฬสื่อสารกันด้วยเสียง ซึ่งจากการที่เคยใช้สปีดโบ็ทออกสำรวจวาฬพบว่า ในระยะมากกว่า 500 เมตร ที่เรือเข้าใกล้วาฬ วาฬก็จะดำน้ำหนีไป เพราะเสียงจากท่อไอเสียของเรือสปีดโบ็ทดังจนไปรบกวนวาฬ
3) อันตรายอีกอย่างหนึ่งของเจ็ตสกีในการไปชมวาฬ คือเมื่อได้พบกับลูกวาฬ ซึ่งมีนิสัยซุกซนขี้เล่น และชอบว่ายเข้าหาเรือ หากผู้ขับขี่เจ็ทสกี เห็นลูกวาฬดำน้ำ แล้วคิดว่าวาฬไปแล้ว แต่วาฬอาจยังไม่ไปไหน หรืออยู่ใต้ท้องเรือ หากสตาร์ทเครื่องยนต์ มีเสียงดังขึ้นมา ลูกวาฬอาจจะตกใจ และว่ายชนกับเจ็ทสกี อาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้ทั้งวาฬและคนขี่เจ็ทสกีได้
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ทางฝั่งคนขี่เจ็ทสกี ก็ไม่ได้อยากจะไปรบกวนวาฬบรูด้า เเต่เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลเรื่องเสียง ที่จะส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของวาฬบรูด้า ก็ต้องชี้เเจง สร้างความเข้าใจ เมื่อเข้าใจเเล้ว ก็จะได้เป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: