นครพนม – วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมพระธาตุนคร ศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังใหม่) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมด่วน เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ หลังได้รับรายงานจากทางอำเภอว่ามีประชาชนเริ่มได้รับความเดือดร้อนมีน้ำไม่เพียงพอ ประกอบกับทางสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครพนม รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดนครพนม ไม่มีฝนตกในพื้นที่หรือมีตกบ้างแต่ก็มีปริมาณน้อย ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2562 เป็นต้นมา เป็นเหตุให้หลายพื้นที่จังหวัดนครพนมเริ่มประสบความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงพื้นที่การเกษตรเริ่มได้รับความเสียหาย
นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าในการประกาศให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินนั้นมีการประกาศอยู่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ ภายใต้ พ.ร.บ. พ.ศ. 2550 และการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อใช้จ่ายเงินทดรองราชการ ซึ่งในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันมีความคาบเกี่ยวกันในเรื่องของเวลา ระหว่างภัยของอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งการดำเนินงานอาจจะกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนได้ ดังนั้นเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในการดำเนินงานให้กับทุกคน ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่ โดยมีข้อมูลจากทุกฝ่ายมายืนยันตามหลักความเป็นจริง ที่สำคัญคือสามารถให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที จึงได้เชิญคณะหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมประชุมด่วนในครั้งนี้
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงาน ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 มีพื้นที่ 3 อำเภอ ที่เริ่มได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย อำเภอปลาปาก อำเภอศรีสงคราม อำเภอโพนสวรรค์ โดยมีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 7,764 ไร่ ขณะที่รายงานปริมาณน้ำฝนในจังหวัดนครพนมของโครงการชลประทานนครพนม สำนักงานชลประทานที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 พฤศจิกายน 2562 มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 350.5 มิลลิเมตร โดยมีปริมาณน้ำในการบริหารจัดการ ณ ปัจจุบัน 45.23 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 90.23 ของความจุรวม ทั้งนี้ในพื้นที่เขตโครงการชลประทาน มีการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 1,354 ไร่ พืชไร่ 2,230 ไร่ พืชผัก 572 ไร่ โดยมีการเตรียมแผนการรับมือกับภัยแล้ง ทั้งการเตรียมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำไว้คอยช่วยเหลือเกษตรกร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: