นครพนม – แฉทุจริตงบภัยแล้งนครพนม มีขบวนการเรียกหัวคิวมาหลายยุค เตรียมยื่น สตง.ตรวจสอบ ผู้ว่าสั่งคุมเข้ม 12 อำเภอ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม นายปียา ผารุธรรม อายุ 48 ปี เครือข่ายธรรมาภิบาล ภาคประชาชน ในฐานะประธานรับเรื่องราวร้องทุกข์ พร้อมตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 12 อำเภอ ยังคงลงพื้นที่ ตรวจสอบ ติดตาม รับทราบปัญหาความเดือดร้อน เกี่ยวกับโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล หลังทางรัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณ มาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดนครพนมเกือบ 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งขุดลอกแหล่งน้ำ การก่อสร้างระบบประปา เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร
ข่าวน่าสนใจ:
ต่อมามีชาวบ้านร้องเรียนผ่านสื่อ ว่า มีปัญหาเนื่องจากมีผู้รับจ้างบางราย ได้มีการขุดลอกโครงการจริง และไม่มีมาตรฐาน มีการหมกเม็ด ไม่ทำตามแบบสัญญาจ้าง เพื่อหวังผลประโยชน์จากโครงการ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในระยะยาว เพราะได้โครงการไม่คุ้มค่ากับความต้องการประชาชน และไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ อีกทั้งโครงการส่วนใหญ่ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ คือ การตกลงราคา ทำให้เอื้อต่อการพิจารณาหาผู้รับจ้างเข้าไปดำเนินโครงการ
ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการร้องเรียน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มอบหมายและจัดตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการในพื้นที่ 12 อำเภอ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการทุจริต เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำตามอำเภอต่างๆ ทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 371 โครงการ จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการพิเศษตกลงราคาไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งได้กำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะต้องมีการรายงานความคืบหน้าชนิดวันต่อวัน หากพบว่าไม่ตรงตามแบบ จะไม่มีการตรวจรับแน่นอน อีกทั้งยังขอให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์เงินภาษีร่วมกัน และหากพบว่ามีผู้รับจ้างรายใด ไม่ทำตามแบบมาตรฐาน หรือมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ยืนยันจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายเด็ดขาด โดยทุกโครงการจะต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์
นายปียา ผารุธรรม เครือข่ายธรรมาภิบาล ภาคประชาชน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการแก้ภัยแล้ง ถือเป็นโครงการที่ดี ชาวบ้านจะได้ใช้น้ำในการเกษตร เพื่ออุปโภค บริโภค ตลอดปี เนื่องจากหลายพื้นที่ตื้นเขิน ไม่สามารถรองรับน้ำได้ หากมีการพัฒนาขุดลอกจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ แต่ปัญหาที่ตามมาหลังรับเรื่องร้องเรียน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ รับทราบปัญหา พบว่าโครงการแก้ภัยแล้ง ในงบประมาณ 200 ล้านบาท มีปัญหาเรื่องการทำงาน เพราะขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเป็นช่องว่าง เกิดความผิดพลาดในการหาผู้รับจ้าง ทำให้มีนายทุนบางกลุ่มไปจน ถึงผู้บริหารท้องถิ่นบางราย เข้าไปวิ่งเต้นเสนอผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ และมีส่วนได้เสียในการดำเนินการโครงการรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐาน เสนอไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ไปจนถึง ส.ส.ในพื้นที่ เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลให้ตรวจสอบแก้ไข กำชับให้มีการตรวจสอบการทำงานทุกขั้นตอน ให้ได้มาตรฐาน 100 เปอร์เซ็นต์ จนกว่าจะส่งมอบงาน ป้องกันไม่ให้มีการทุจริต คอรัปชั่น ส่วนการแก้ปัญหา หากมีการกำชับเข้มงวดการตรวจรับงาน เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขการทุจริตได้ เพราะจะเป็นการตัดวงจรอุบาทว์ของคนบางกลุ่มที่เข้ามาแสวงประโยชน์ นำงานไปขายกินหัวคิว โดยหลายปีที่ผ่านมาขาดการเข้มงวดอย่างจริงจัง มีข้าราชการจับมือกับผู้ประกอบการ งาบงบประมาณรัฐบาลหลายต่อหลายโครงการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: