X

“หมูไม่กลัวน้ำร้อน” แก๊งงาบหัวคิวภัยแล้ง ท้าทายคำสั่งพ่อเมืองนครพนม โผล่ส่อทุจริตอีก 4 โครงการ

นครพนม – “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” แก๊งงาบหัวคิวภัยแล้ง ท้าทายคำสั่งพ่อเมืองนครพนม โผล่ส่อทุจริตอีก 4 โครงการ หลับตาเซ็นรับงานจ่อเบิกเงิน

วันที่ 2 ธันวาคม 2562 คืบหน้าเกี่ยวกับกรณีมีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 12 อำเภอของจังหวัดนครพนม ร้องเรียนผ่านสื่อไปถึง นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้มีการตรวจสอบการทุจริต การใช้งบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล ที่อนุมัติงบประมาณในปี 2562 จังหวัดละ 200 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ซึ่งในพื้นที่นครพนม มีการจัดสรรงบประมาณลงทั้ง 12 อำเภอๆละ 10 -15 ล้านบาท  เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 โดยใช้วิธีแบบพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับเหมา โดยแต่ละโครงการซิกแซกแห่งหนึ่งไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการประกวดราคา ทำให้เกิดช่องว่างเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้าง และนักการเมืองท้องถิ่นบางกลุ่ม ตลอดจนบุคคลที่อ้างเป็นสื่อใหญ่ เข้าไปแสวงผลประโยชน์ กระทั่งมีตัวแทนชาวบ้านออกมาร้องเรียน หลังพบปัญหาการดำเนินโครงการขาดมาตรฐาน หมกเม็ดทำงานไม่ตรงตามสัญญาจ้าง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้

ต่อมานายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามกำกับดูแล ป้องกันการทุจริต และควบคุมติดตามการดำเนินโครงการให้เกิดมาตรฐาน ตรงตามสัญญาจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์  เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ตามนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนของพื้นที่ของจังหวัดนครพนม ทั้ง 12 อำเภอ ได้รับงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 371 โครงการ ร่วมเป็นเงินงบประมาณ 199,957,600 บาท(หนึ่งร้อยเก้าสิบเก้าล้านเก้าแสนห้าหมื่นเจ็ดพันหกร้อยบาทถ้วน)

หลังสื่อหลักกระชากโฉมหน้าขบวนการงาบหัวคิว ในพื้นที่อำเภอเรณูนครไปแล้ว จนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทำงานด้านนี้โดยตรง เพื่อหวังปิดการทุจริตคอรัปชั่น ล่าสุดมีพวกหมูไม่กลัวไม่ร้อน ท้าทายคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพราะได้มีตัวแทนชาวบ้าน ในพื้นที่อำเภอนาแก ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อ พร้อมลงพื้นที่สะท้อนปัญหา และตรวจสอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยมีการทำงานขาดมาตรฐาน ส่อทุจริต คือ โครงการขุดลอกหนองบุ่งกกกอก บ้านนาคู่กลาง หมู่ 2 ต.นาคู่ มีขนาดความกว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 120 เมตร ความลึก 4 เมตร หรือปริมาณขุดไม่น้อยกว่า 12,500 ลูกบาศก์เมตร  งบประมาณจำนวน 480,600 บาท(สี่แสนแปดหมื่นหกร้อยบาทถ้วน)  เริ่มดำเนินการ23 กันยายน 2562 ถึง 22 ธันวาคม 2562  รวม  90 วัน

แห่งที่สองเป็นโครงการขุดลอกหนองบุ้งบักโอ้ บ้านนาคู่เหนือ หมู่ 8 ต.นาคู่ ความกว้างประมาณ 45 เมตร ยาว 150 เมตร ลึกเฉลี่ย 4 เมตร หรือปริมาณดินขุดไม่ต่ำกว่า 12,300 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 477,000 บาท(สี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 23 กันยายน 2562 ถึง 22 ธันวาคม 2562 รวม 90 วัน

ส่วนจุดที่สามคือโครงการขุดลอกหนองก่ำหลง บ้านนาคู่ใต้ หมู่ 7 ต.นาคู่ ความกว้างประมาณ 45 เมตร ยาว 140 เมตร ลึกประมาณ 3.50 เมตร หรือปริมาณขุดดินไม่น้อยกว่า 12,390 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 500,000 บาท(ห้าแสนบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 23 กันยายน 2562 ถึง 22 ธันวาคม 2562 รวม 90 วัน และจุดที่สี่คือโครงการขุดลอกหนองบุ่งขี้เหล้า บ้านนาคู่ใต้ หมู่ 7 ต.นาคู่ ความกว้างประมาณ 50 เมตร ยาว 120 เมตร ความลึกประมาณ 4 เมตร หรือปริมาณดินไม่น้อยกว่า 12,400 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 481,400 บาท(สี่แสนแปดหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 23 กันยายน 2562 ถึง 22 ธันวาคม 2562 รวม 90 วัน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 4 โครงการ มีการตรวจรับงานเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งการดำเนินการขาดมาตรฐานส่วนใหญ่ จะใช้วิธีการขุดลอกตกแต่ง ทำคันคูดินเพื่อให้ระดับความลึกได้ตามแบบสัญญาจ้าง  แทนการขุดลอกโคลนในระดับความลึกจากผิวดินเดิม ลักษณะคล้ายในพื้นที่อำเภอเรณูนคร ที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ เป็นการหมกเม็ดงาน เพื่อลดต้นทุนในการขุดลอก หวังผลประโยชน์กำไรสูง สร้างความเสียหายให้กับภาครัฐและประชาชน ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจากจะไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ไม่ตรงตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้ ส่อทุจริตคอรัปชั่น โดยทำกันเป็นขบวนการ ตัวแทนชาวบ้านจึงได้สะท้อนผ่านสื่อมวลชน เรียกร้องให้ทางจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้อง สะท้อนไปถึงรัฐบาล ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหา ป้องกันการทุจริต และให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ากับภาษีประชาชน  อีกทั้งมีการเรียกร้อง ให้ตรวจสอบทุกโครงการในอำเภอนาแก ที่มีกว่า 30 โครงการ เพื่อหามาตรฐาน

ด้าน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ระบุว่า สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณทั้งหมดเกือบ 200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการสำคัญที่จังหวัดนครพนม ได้มอบหมายให้ทางอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด หลังมีปัญหาร้องเรียนได้ ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามทุกขั้นตอน ยืนยันว่าทุกโครงการจะต้องได้มาตรฐานตรงตามสัญญาจ้าง ในส่วนของการร้องเรียนจะมีการตรวจสอบควบคู่กันไปตามแผนงานที่คณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบ จนกว่าจะส่งมอบงาน  ยืนยันว่าหากไม่ได้มาตรฐานจะต้องมีการแก้ไข และต้องไม่มีการหมกเม็ด หากพบโครงการในพื้นที่ไหนเข้าข่ายทุจริต หรือดำเนินการไม่ตรงตามสัญญาจ้าง จะมีการตรวจสอบดำเนินการขั้นเด็ดขาด หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งข้อมูลเข้ามายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้ตลอดเวลา

โดยขบวนการงาบหัวคิว ประกอบด้วย ข้าราชการประจำ ผู้นำส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสื่อมวลชน แท็กทีมกันทำงาน แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ด้านสื่อมวลชนจะอ้างว่าเคลียร์พื้นที่สื่อไว้หมด รับรองจะไม่มีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ บุคคลรายนี้มักจะเดินตามประกบผู้ใหญ่ในจังหวัด สร้างภาพว่ามีความสนิทสนมกันจริง และจะชอบนั่งอยู่เก้าอี้ด้านหลังผู้ใหญ่เสมอ ทำให้หลายคนเชื่อว่าบุคคลรายนี้มีความคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ท่านนั้นจริงๆ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน