นครพนม – “เขื่อนหลวงพระบาง” ลูกผสม 3 สัญชาติ เพชฌฆาตแม่น้ำโขงตัวใหม่ สทนช.เปิดเวทีแจงข้อมูล เครือข่ายประชาสังคมยังแคลงใจ
วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สหกรณ์หนองบึก ถนนอภิบาลบัญชา เขตเทศบาลเมืองนครพนม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังงานเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. นำคณะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง อาทิ ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกศ ดร.วิเทศ ศรีเนตร นายสาธิต ภิรมย์ไชย ผอ.กลุ่มแผนงานและโครงการ สทนช. และมี ดร.จันสะแหวง บุนยง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน สปป.ลาว มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวให้การต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 140 คน จากกลุ่มตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง เช่น จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และนครพนม ในส่วนของจังหวัดนครพนมมีประชาชนที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขงเดินทางมาร่วมรับฟังทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอบ้านแพงที่ไม่มีผู้แทนมาแม้แต่คนเดียว
จากข้อมูลเขื่อนหลวงพระบางสร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว จุดสร้างอยู่บริเวณบ้านห้วยโง แขวงหลวงพระบาง ห่างจากปากแม่น้ำอูค่อนไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนไซยะบุลี 130 กิโลเมตร และห่างจากจุดก่อสร้างเขื่อนปากแบง 170 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเขื่อนแบบ Run-of-River แบบขั้นบันไดลำดับที่ 2 ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ระดับกักเก็บน้ำ 312-312.5 ม.รทก. (ม. คือ เมตร ส่วน รทก. คือ ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สูง 79 เมตร เป็น Barrag Type กว้าง 195 เมตร มีทางระบายน้ำ 6 ช่อง ระดับต่ำ 3 ช่อง ขนาดประตู 19 เมตร สูง 25 เมตร
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 สทนช.พร้อมผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และด้านเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมประชุมคณะทำงานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission:MRC) ครั้งที่ 2 ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อหารือประเด็นด้านเทคนิคฯ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง โดย พีวีเพาเวอร์ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปิโตรเวียดนาม(PVN) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่หลักในการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนาม ออกมาตีโพยตีพายเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุลี อ้างว่ามีผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พร้อมเรียกร้องให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุลี แถมสนับสนุนให้มีการสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น แทนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง
ข่าวน่าสนใจ:
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
- กล้องวงจรปิดจับภาพ แม่รับลูกซ้อน 4 กลับจากโรงเรียน ชนรถ พ่วงบาดเจ็บสาหัส ลูกร้องระงม
- จ.นครพนม บูรณาการร่วมปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลลอยกระทง 2567
- คิดจะค้ายาฯ ขอให้..คิดถึงคุก!!
ต่อมาไม่นานเวียดนามกลับเป็นเจ้าภาพสร้างเขื่อนหลวงพระบาง โดยมีบริษัทเอกชนจากฝั่งไทยร่วมทุนด้วย เขื่อนแห่งนี้จึงมี 3 สัญชาติ คือ เวียดนาม ไทย และลาว เริ่มลงเสาเข็มก่อสร้างในปี 2563 แล้วเสร็จปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี โดยมีเป้าหมายส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศไทย เวียดนาม
ดร.สมเกียรติ ฯ เลขาฯ สทนช. เผยว่าการเปิดเวทีให้ข้อมูลเขื่อนหลวงพระบาง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด(เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลฯ) ที่อาจได้รับผลกระทบในการสร้างเขื่อนแห่งนี้ จะได้รับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อข้อห่วงกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผ่านไปยังเจ้าของโครงการคือประเทศลาว
เขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการลำดับที่ 5 ที่ทางการลาวมีแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน ต่อจากโครงการเขื่อนไซยะบุลี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย สทนช.ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ(Thai National Mekong Committee:TNMC) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC ได้กำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จำนวน 3 ครั้ง ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2562 สิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 7 เมษายน 2563 โดยนครพนมเป็นจังหวัดแรก จากนั้นก็จะไปประชุมต่อที่จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดเลยตามลำดับ
ดร.สมเกียรติฯกล่าวต่อว่า การรับฟังข้อคิดเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสู่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงรับฟังประเด็นข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบสะสมและข้ามพรมแดนของโครงการฯ ต่อพื้นที่ท้ายน้ำกับคนในท้องถิ่น อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงระบบนิเวศลำน้ำโขง เป็นต้น ที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง นำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีประเทศไทยเสนอต่อประเทศลาวพิจารณา ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางตามลำดับต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538 ที่ประเทศสมาชิกมีข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้น้ำของระบบลุ่มน้ำโขงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม หากมีการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ภายในลุ่มน้ำหรือผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ทั้งนี้ สทนช.จะได้ติดตามและร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม(Joint Action Plan) ของโครงการร่วมกับ 4 ประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเขื่อนหลวงพระบางเกิดประโยชน์และมีผลกระทบน้อยที่สุด หรือมีมาตรการอย่างเหมาะสมรองรับการพัฒนาต่อไป
ด้านนายอิทธิพล คำสุข ประธานเครือข่ายประชาสังคมลุ่มน้ำโขง ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดหนองคาย มีเครือข่ายทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เผยว่าการให้ข้อมูลของ สทนช.ยังคลุมเครือไม่ลงลึกในรายละเอียด และการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง เนื่องจากปิโตรเวียดนาม ต้องการแข่งขันกับ กฟผ. ตนไม่เชื่อว่าผู้ลงทุนสร้างเขื่อนจะเป็นเวียดนามตามลำพัง แต่อาจจะเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนไทยด้วย และการที่ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าแบบซื้อมาขายไป โดยเอาไฟฟ้าสำรองของประเทศไปขายที่อื่น อนาคตหากเศรษฐกิจไม่ดี ภาระทั้งหมดจะตกที่ประชาชนผู้บริโภคภายในประเทศ
“แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสัญญาณมรณะ หากสร้างเขื่อนหลวงพระบางขึ้นมาอีก ระบบนิเวศพังหมด แม้วันนี้จะมีการฉายวีดีโอว่าปลาว่ายอย่างมากมาย คล้าย สทนช.อยากให้เกิดเขื่อนหลวงพระบางขึ้น แม่น้ำโขงต้องเผชิญวิกฤต ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขวางแม่น้ำโขง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสการไหลและระดับน้ำจะไม่ขึ้นลงตามธรรมชาติ อนาคตแม่น้ำโขงจะเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำเท่านั้น”นายอิทฺธิพล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: