นครพนม – คืบหน้า กรณีมหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม ครั้งที่ 1 / 2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีวาระประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับการพิจารณาดำเนินการตามคำสั่ง รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่ อว.0233.7(3.23)/860 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ให้สภา มนพ. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และสอบวินัยร้ายแรง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เกี่ยวกับปมปัญหาเครื่องบินฝึกบินของ วิทยาลัยการบินนานาชาติ เกิดอุบัติเหตุตก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ศพ คือ นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อดีตนายก อบจ.มหาสารคาม พร้อมครูฝึกบินอีก 2 นาย ซึ่งต่อมามีการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีปัญหาการนำเครื่องบินไปใช้ในภารกิจส่วนตัวนอกเหนือจากภารกิจหลัก โดยคณะกรรมการชุดสอบสวนชี้มูลความผิดเหตุเครื่องฝึกบินตก มีผู้เกี่ยวข้องจำนวน 4 คน หนึ่งในนั้นคือ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฯ อยู่ แต่เรื่องการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกลับถูกดองไว้มาตั้งแต่นายกสภาฯ คนเก่าถึงปัจจุบัน
โดย ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ นายกสภา มนพ. เป็นประธาน และเรื่องการสอบวินัยร้ายแรง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ บรรจุอยู่ในวาระที่ 3.1 เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระลับ โดยกรรมการสภาฯต่างลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน ไม่ให้ตั้งกรรมการสอบสวนพร้อมขอให้ลงมติ แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านเห็นว่าเรื่องนี้ต้องอิงข้อกฎหมาย ทำให้นายกสภาฯ และที่ประชุมจำต้อง ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก พร้อมยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง ให้รักษาการอธิการบดีตามหนังสือคำสั่งสภามหาวิทยาลัยนครพนมที่ 062/2561 ลงวันที่10 มีนาคม 2561 พร้อมแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็นรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมแทน เป็นเหตุให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ต้องหลุดจากรักษาราชการฯอธิการบดี มนพ. ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ปรากฏว่ามีกรรมการสภาฯจำนวน 9 คน ยื่นหนังสือคัดค้านการปลด ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ โดยอ้างเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกรรมการฯที่ลงลายชื่อคัดค้านนั้น ได้แก่ 1.รศ.ดร.คำรณ ศิระธนกุล 2.รศ.ดร.สนั่น ศรีสุข 3.ดร.พันตรี โคมพิทยา(กรรมการกลุ่มผู้บริหาร) 4.นายศรีสุข แสนยอดคำ นายกเทศบาลตำบลเรณูนคร 5.นายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศบาลตำบลท่าอุเทน (กรรมการตัวแทนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และ 6.นายกิติศักดิ์ มะลัย 7.นายประพัฒน์พงษ์ ปรีชา 8.นายสันติสุข วรวัฒนธรรม 9.นายพีระพงษ์ ธีระเผ่าพงษ์ (กรรมการตัวแทนคณาจารย์)
ข่าวน่าสนใจ:
- เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- ม.นครพนม จัดประชุมวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “บูรณาการ AI and Soft Power ในการบริหารภาครัฐ”
- คึกคัก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างชาติ แห่เที่ยวจับจ่ายหาของกินคาวหวาน-อาหารทะเลในงาน ‘หาดแม่รำพึง หร่อยริมเล’ ครั้งที่ 2 แน่นงาน
ล่าสุด มีหนังสืออ้างเป็นแถลงการณ์ สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยนครพนม ฉบับที่ 1 ระบุว่า”อนุสนธิ จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยนครพนม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2563 ในวาระลับที่ 3.1 ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยนครพนมและชื่อเสียงเกียรติยศของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนม ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของ ม.นครพนม เป็นอย่างยิ่ง
สภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.นครพนม ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้พบข้อเท็จจริงว่าการประชุมสภาฯ ในวาระลับดังกล่าวมีกรรมการสภาฯหลายคนแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย พร้อมกับเสนอให้มีการลงมติ แต่ปรากฏว่า”นายกสภามหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ประธานการประชุมกลับพูดแทรกเป็นระยะๆ และบ่ายเบี่ยงไปเรื่องอื่น สุดท้ายก็สรุปว่าเป็นมติ”แบบมัดมือชก” และอ้างว่าเป็นมติให้พักงานและตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสภา ม.นครพนม กล่าวคือการลงมติต้องกระทำด้วยการลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยการยกมือ หรือลงคะแนนแบบลับด้วยการกาบัตรจึงถือได้ว่าเป็นมติที่สมบูรณ์
ดังนั้น เมื่อที่ประชุมสภา ม.นครพนม ยังไม่ได้ลงมติ จึงไม่สามารถแต่งตั้งรักษาราชการคนอื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ขณะเดียวกันนายกสภาฯยังได้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ 026/2561 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2561 แต่งตั้ง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนม อีกด้วย การกระทำของนายกสภา ม.นครพนม (คนปัจจุบัน) ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภาฯ แต่อย่างใด กลับใช้ทัศนคติที่มีนัยแอบแฝงซ่อนเร้นและแทรกแซงการบริหารของฝ่ายบริหาร มาอย่างต่อเนื่องและซ้ำซาก ตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกสภา ม.นครพนม เมื่อ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นมา
สภาคณาจารย์และข้าราชการ จึงเรียกร้องให้นายกสภาฯ ทบทวนและยกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเร็ว หากยังดำเนินการใดๆ ที่เป็นไปโดยไม่ถูกต้องและบ่อนทำลายความรัก ความสามัคคี และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนครพนม พวกเราจะมีมาตรการคัดค้านตามครรลองของกฎหมายและความเหมาะสมต่อไป”
โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ ไม่มีคณาจารย์ลงลายมือชื่อแม้แต่คนเดียว แล้วมีการส่งต่อในไทม์ไลน์และเฟซบุ๊กในกลุ่มสาธารณะ ซึ่งต่อมามีนายสมยศ สีแสนซุย อาจารย์คณะเทคโนโลยี่อุตสาหกรรม ม.นครพนม ออกมาเปิดเผยว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์เถื่อนเป็นการแอบอ้างใช้ชื่อสภาคณาจารย์ในการออกแถลงการณ์โดยไม่มีผู้ลงนามรับผิดชอบ เพราะไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องแพงพนม ชั้น 4 อาคารสารสนเทศเพื่อการบริการ สำนักงานอธิการบดี ม.นครพนม พร้อมกับโพสลงในเฟซบุ๊ก ว่า” แถลงการณ์นี้ ใครเป็นคนออกครับ กรรมการสภาคณาจารย์ประชุมกันตอนไหน ใครร่วมประชุมบ้าง ใครเห็นด้วยกี่เสียง ไม่เห็นด้วยกี่เสียง ด้วยมติเท่าไหร่ ใครคือผู้ร่วมลงชื่อรับผิดชอบต่อแถลงการณ์นี้ ถ้าบอกว่าสภาไม่มีมติก็ทำเป็นตัวอย่างให้สภาดูหน่อยสิครับ ท่านที่เป็นตัวแทนในสภาคณาจารย์ทั้งหลาย จะร่วมกันลงลายมือชื่อกันก็ได้ แต่อย่าแถลงลอยๆ ผมในฐานะคนเลือกจะได้พิจารณาได้ถูกว่าที่เลือกเข้าไปแล้วใครคิดอย่างไร บ้าง อย่าลืมลงชื่อกันนะครับ ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นแถลงการณ์เถื่อนๆ ไม่ต่างจากบัตรสนเท่ห์ที่บางคนบางกลุ่มถนัด ถ้าใช่ก็ลงชื่อมา ถ้าไม่ใช่ก็ควรออกมาปฏิเสธ กล้าทำต้องกล้ารับผิดชอบ”
ขณะเดียวกันวันที่ 15 มกราคม 2563 มีการเรียกประชุมกลุ่มผู้สนับสนุน ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก อดีต รก.อธิการบดี ม.นครพนม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใน เขตเทศบาลเมืองนครพนม เนื้อหาในการประชุมส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันถึงมติสภาฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการแต่งตั้งรักษาราชการฯคนใหม่แทนนั้น ก็เป็นคำสั่งไม่ชอบของนายกสภาฯ เช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้มีการสั่งผู้ที่เข้าประชุมที่มีประมาณเกือบ 30 คน ห้ามคัดค้านแถลงการณ์ที่อ้างเป็นมติของสภาคณาจารย์และข้าราชการ ม.นครพนม เพราะหลังวันที่ 19 มกราคม ที่จะถึงนี้ “เราจะกลับมา” และจะเช็คบิลคนที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ฯลฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ดร.พีระพงษ์ ธีระเผ่าพงษ์ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยนครพนม ได้ออกแถลงการณ์ที่ 001/2563 เรื่องชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า “จากกรณีที่มีเอกสารเผยแพร่กรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการบริหารจัดการภายในสภามหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งมีถ้อยความโจมตีบุคคลต่างๆ มากมาย และหนังสือดังกล่าวได้กล่าวอ้างในนามสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยนครพนม นั้น ข้าพเจ้า อาจารย์ ดร.พีระพงษ์ ธีระเผ่าพงษ์ ในฐานะประธานสภาคณาจารย์ฯ ขอปฏิเสธหนังสือและข้อความในแถลงการณ์ฉบับนั้น และมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับหนังสือฉบับดังกล่าว
หากมีการออกหนังสือหรือแถลงการณ์ใดๆจากสภาคณาจารย์ จะต้องมีการลงนามโดย ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการฯ โดยผ่านมติของประธานสภาคณาจารย์ฯเห็นชอบเท่านั้น และจะต้องมีอ้างอิงเลขที่ วันที่ ที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องสามารถตรวจสอบได้
อนึ่ง ข้าพเจ้าในนามประธานสภาคณาจารย์ฯ ได้ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการสภาคณาจารย์ฯ ในคราวประชุมสภาฯครั้งที่ 1/2563 วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 ไว้ว่า จะดำเนินการตามหน้าที่ทุกอย่างตาม พรบ.มหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ.2548 มาตรา 23 และ 24 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยสภาคณาจารย์และข้าราชการ พ.ศ.2551 เท่านั้น และ จะเป็นตัวแทนบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยในการรวบรวมนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อสวัสดิการหรือสิ่งอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากร และปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน โดยไม่นำสภาคณาจารย์ฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดๆ ยกเว้น เอกสิทธิ์ในการออกเสียงในสภามหาวิทยาลัยนครพนม เท่านั้น”
หลังมีหนังสือฉบับดังกล่าว ก็มีกลุ่มคณาจารย์ ม.นครพนม ต้องการให้ ดร.พีระพงษ์ ธีระเผ่าพงษ์ ประธานสภาคณาจารย์ฯ แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้สภาคณาจารย์เสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: