นครพนม – “บิ๊กอู๋” นำ 4 เชื้อชาติ ไทย ลาว จีน เวียดนาม ร่วมทำบุญตรุษจีน ตรุษญวน หนุนท่องเที่ยวชายแดนโชว์วัฒนธรรม ตั้งเป้าสู่เมืองท่องเที่ยวเชื่อมอินโดจีน
วันที่ 25 มกราคม 2563 เวลา 07.30 น. บริเวณหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม จุดเช็คอินที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และอดีต รมว.แรงงาน ในฐานะคนนครพนม พร้อมด้วย นายแพทย์ ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม ตลอดจน พ่อค้าประชาชน ประชาชน ทั้งชาวไทย ชาวลาว ชาวไทยเชื้อสายจีน+เวียดนาม และประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมกันทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในวันตรุษจีน สืบสานประเพณีที่สืบทอดกันมา
อีกทั้งเป็นการร่วมกันรำลึกถึงความสัมพันธ์ อันดี ระหว่างชน 4 เชื้อชาติ ไทย ลาว จีน เวียดนาม ที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาแต่อดีต โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครพนม เคยเป็นที่พักพิงของประธานโฮจิมินห์วีรบุรุษของชาวประเทศเวียดนาม ที่เคยมาลี้ภัยต่อสู้ ในยุคสงครามอินโดจีน ทำให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ขณะที่ชาวไทยเชื้อสายจีนอพยพมาจากซัวเถาทางตอนใต้ของประเทศจีนมาตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ในจังหวัดนครพนม
ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทย ลาว จีน เวียดนาม มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของ 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ เป็นจุดขายในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชายแดน จึงได้มีการจัดกิจกรรมทำบุญส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นในช่วงวันสำคัญต่างๆ รวมถึงวันตรุษจีน
ข่าวน่าสนใจ:
- "นครพนมฮือฮา! งานศพสุดแปลก ใส่ชุดแดงฟ้อนรำส่งดวงวิญญาณ ‘เจ้แข่น’ ปิดตำนานสาวสองแห่งอำเภอนาทม
- น้องขวัญ นายก อบจ.นครพนม ลาออก ก่อนครบวาระ 3 วัน จ่อลงชิงป้องกันแชมป์
- รับบุญใหญ่ งานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมฯ สกลนคร 6-13 มกราคม 2568 ร่วมบูชาเมล็ดข้าวใหญ่ในตำนานเมืองสกลนคร
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์อันดีของ ชาวนครพนม กับชาวเวียดนามและชาวจีน โดยชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นที่ระลึกก่อนย้ายกลับมาตุภูมิตามท่านโฮจิมินห์ หลังชนะสงครามเดียนเบียนฟู ยุคฝรั่งเศสล่าอาณานิคม โดยชาวเวียดนามที่ลี้ภัยมาอาศัยในนครพนมได้ร่วมกันสร้างหอนาฬิกาขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2503 เพื่อระลึกถึงไมตรีจิตของคนไทย และให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้รำลึกถึงความเป็นม
ขณะเดียวกันบรรยากาศการจัดกิจกรรม นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตร ร่วมอวยพรวันตรุษจีนและเต๊ดเงี่ยนด่าน เพื่อเป็นสิริมงคล ยังได้มีการจัดการแสดงของลูกหลานเยาวชน ชาวไทยเชื้อสายจีนและเชื้อสายเวียดนาม จำนวน 2 ชุด เพื่อเป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมความงดงาม ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรม ถือเป็นไฮไลน์ ส่วนหนึ่งของชาวจังหวัดนครพนมที่มาร่วมกิจกรรม โดยพร้อมใจกันแต่งชุดเวียดนามหรือชุดพื้นเมืองชาวเวียดนาม คือชุดอ๋าวหญ่าย รวมถึงชุดจีนกี่เพ้าที่สวยงาม ตระการตา แสดงออกถึงเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 4 เชื้อชาติ สร้างความประทับใจให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว เป็นอย่างมาก
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เปิดเผยว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ชาวจังหวัดนครพนม ทั้ง 4 เชื้อชาติ ไทย ลาว เวียดนาม จีน รวมถึงประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ร่วมสืบสานประเพณี ทำบุญเทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสตรุษจีนปีนี้ ขอให้ ชาวนครพนม รวมถึงคนไทยทุกคน มีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง สิ่งสำคัญมั่นใจว่า จังหวัดนครพนม เป็นเมืองน่าอยู่ มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว เป็นเมืองชายแดนที่รองรับการท่องเที่ยว ที่สำคัญมีประเพณี วัฒนธรรม โดดเด่น และมีความสัมพันธ์เชื่องโยงหลายเชื้อชาติ ถือเป็นจุดแข็ง ทำให้นครพนมพัฒนาก้าวกระโดด ในอนาคต เชื่อมั่นว่า จะเป็นจังหวัดชายแดน อันดับต้นๆของภาคอีสาน ที่สามารถรอง รับประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาพักผ่อนได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ซึ่งตนพร้อมที่จะสนับสนุน ในการเสนอรัฐบาล จัดสรรงบประมาณ มาสนับสนุนพัฒนาต่อเนื่อง
ประวัติชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครพนม มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยมาทางเรือผ่านทะเลจีนใต้เป็นแรมเดือนมาสู่กรุงเทพฯ บางส่วนเดินทางไปในถิ่นทุรกันดาร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสของการเติบโตได้ดีกว่าอยู่ในเมืองหลวง จึงมีคนจีนบางกลุ่มเดินทางมายังภาคอีสานจนถึงจังหวัดนครพนม
ชาวจีนเมื่อเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินไทย ก็จะแต่งงานกับผู้หญิงไทยกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ทำให้การสืบเชื้อสายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนสืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่นั้น ต่อมาก็มีการรวมกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดนครพนมตั้งเป็น”สมาคมฮั่วเคี้ยว” เมื่อปี 2489 มีนายกสมาคมคนแรกคือนายโต๊ะเค็ง แซ่เตีย ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวจีนเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด และสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนมได้เริ่มก่อตั้งสถานศึกษาชื่อโรงเรียนตงเจี่ย เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติมจากภาษาไทยที่เป็นภาษาบังคับต้องเรียนรู้อยู่แล้ว
ด้านวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนจะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างมาจากบรรพบุรุษ ได้แก่ การประกอบพิธีดั้งเดิมตามความเชื่อ เช่น เทศกาลตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ วันสารทจีน วันเช้งเม้ง เทศกาลกินเจ จัดสมโภชเจ้าพ่อหมื่น เจ้าพ่อคำแดง เจ้าพ่อสัมมาติ เจ้าพ่อสิบสอง เป็นต้น
เทศกาลตรุษจีนเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน คือมีทั้งหมด 15 วัน ในประเทศจีนธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองตรุษจีนนั้นหลากหลายมาก ประชาชนจะเทเงินของตนเพื่อซื้อของขวัญ ของประดับตกแต่ง วัสดุ อาหารและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังมีประเพณีว่า ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ เพื่อปัดกวาดโชคร้ายด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา มีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษตัดสีแดงและคู่กับธีม “โชคดี”, “ความสุข”, “ความมั่งคั่ง” และ “ชีวิตยืนยาว” ที่ได้รับความนิยม ในคืนก่อนตรุษจีน อาหารค่ำเป็นการกินเลี้ยงกับครอบครัว อาหารนั้นจะมีเช่น หมู เป็ด ไก่และอาหารอย่างดี ครอบครัวจะปิดท้ายค่ำคืนด้วยประทัด เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กจะทักทายบิดามารดาของตนโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและสวัสดีปีใหม่ และได้รับเงินอั่งเปา ประเพณีตรุษจีนนั้นเพื่อการสมานฉันท์ ลืมความบาดหมางและปรารถนาสันติและความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ
ส่วนประเพณีตรุษญวน หรือปีใหม่ของชาวเวียดนาม มีลักษณะเหมือนกับประเพณีตรุษจีนของชาวจีน ในอดีตสมัยที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนนานนับพันปี วัฒนธรรมทางความเชื่อและการดำรงชีวิตตลอดจนภาษาต่างก็ได้รับอิทธิพลจากจีนทั้งสิ้น ปฏิทินทางจันทรคติของเวียดนามจะตรงกับปฏิทินทางจันทรคติของจีน ดังนั้นวันตรุษญวนหรือวันขั้นปีใหม่เวียดนามจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือตรงกับวันตรุษจีนนั่นเอง
ตรุษญวนในภาษาเวียดนามเรียกว่า “เต๊ดเงี่ยนด่าน” เทศกาลต้อนรับแสงรุ่งอรุณของปีใหม่ ในการเฉลิมฉลองเทศการตรุษญวนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม (เจ็ดวันก่อนตรุษญวน) วันนี้จะมีการไหว้เทพเจ้าแห่งเตาไฟ ในภาษาเวียดนามเรียกว่า องต๊าว หรือ ต๊าวเกวิน เทพเจ้าเตาเป็นเทพเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลความเป็นไปทุกอย่างภายในบ้าน เทพเจ้าเตาของเวียดนามมีสามองค์ ซึ่งแตกต่างกับของจีน พอถึงวันที่ 23 เดือน 12 จะมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าโดยวัตถุประสงค์คือเพื่อส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ ในพิธีจะมีการไหว้ปลาคร๊าฟ ซึ่งเทพเจ้าจะขึ้นสวรรค์โดยขี่ปลาคร๊าฟนี้ พอไหว้เสร็จก็จะนำปลาคร๊าฟไปปล่อยในแม่น้ำหรือหนองน้ำเพราะเชื่อว่าปลาคร๊าฟจะแปลงกลายเป็นมังกรพาเทพเจ้าขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากนั้นจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือนประดับตกแต่งสวยงานเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษญวนที่จะมาถึง
หลังจากไหว้เทพเจ้าเตาในวันที่ 23 เดือน 12 แล้ว พอถึงวันที่ 30 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม (ก่อนตรุษจีนหนึ่งวัน) จะมีการไหว้บรรพบุรุษเพื่อเชิญบรรพบุรุษกลับมาร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษญวน โดยญาติพี่น้องทุกคนที่อยู่ไกลบ้านจะต้องกลับมาเพื่อรวมกันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันปีใหม่ การไหว้บรรพบุรุษจะเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย การไหว้มีสองแบบคือ
แบบที่หนึ่ง คือไหว้แบบไปเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสานคือลูกหรือหลานชายจะต้องนำของไหว้ไปไหว้เชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสานบริเวณหลุมศพของบรรพบุรุษทุกคน จากนั้นพูดเชิญวิญญาณกลับบ้าน ในระหว่างทางมีข้อห้ามว่าห้ามพูดจากับใครเด็ดขาด พอถึงบ้านก็เริ่มพิธีไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษที่บ้าน
แบบที่สอง คือไหว้แบบไม่ไปเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสาน โดยจะไม่มีการนำของไหว้ไปไหว้ที่สุสานแต่จะไหว้ที่เชิญวิญญาณที่บ้านพร้อมกับไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษ หลังจากไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษกลับมาบ้านเสร็จ ลูกหลานทุกคนก็ร่วมกันเฉลิมฉลองรับประทานอาหารร่วมกันอย่างพร้อมหน้า
ของไหว้ในวันเทศกาลตรุษญวนจะมีของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในเทศกาลนี้ก็คือ บั๊ญจึง หรือข้าวต้มมัดญวน จะมีลักษณะเป็นห่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส ห่อด้วยใบตอง ภายในจะมีข้าวเหนียว ถั่วเหลือง และหมูสามชั้น แบ๋งจึงถือเป็นขนมประจำเทศกาลตรุษญวน มีต้นกำเนิดในสมัยกษัตริย์หุ่งเวือง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกของเวียดนาม
สิ่งที่ห้ามทำในวันเทศกาลตรุษจีนและตรุษญวนคือ ห้ามกวาดบ้าน ถ้ากวาดก็ให้กวาดเข้า ห้ามพูดเรื่องไม่ดี ห้ามทะเลาะกัน ห้ามทวงหนี้และจ่ายหนี้ ห้ามยืมเงิน ห้ามไปงานศพหรือบ้านที่กำลังไว้ทุกข์ ห้ามไปเยี่ยมคนป่วย โดยปกติจะห้ามปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ประมาณ 3 วันเพราะถือว่าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งปีใหม่แสดงถึงสิ่งดีๆ จะได้โชคดีตลอดปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: