นครพนม – หนึ่งเดียวในสยาม !! “แสกเต้นสาก” มรดกบรรพบุรุษ ในพิธีกตัญญูต่อโองมู้ จ่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วันที่ 26 มกราคม 2563 บริเวณศาลเจ้าเด่นหวั่วโองมู้ ริมแม่น้ำโขงบ้านอาจสามารถ หมู่ 5 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งล้วนเป็นชนเผ่าไทแสก นายสัญญา จันทโคตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ และนายไพรัตน์ สุสิงห์ กำนันตำบลอาจสามารถ ร่วมกับชนเผ่าไทแสกบ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม จัดงาน ประเพณี”วันรวมใจไทแสก” ประจำปี 2563 โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางมนพร(เดือน) เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย น.ส.ณัฐธ์ภัสส์(ผึ้ง) ยงใจยุทธ ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ นายเฉลิมชัย รุจิวรารัตน์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม ฯลฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
นายไพรัตน์ สุสิงห์ กำนัน ต.อาจสามารถ เปิดเผยว่าทุกวันนขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะเป็นวันรวมใจไทแสก เป็นชาวชนเผ่าไทแสกร่วมกันจัดขึ้น ณ บริเวณศาลเจ้าเด่นหวั่วโองมู้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและนับถือ ซึ่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษคือ”โองมู้” ผู้นำชนเผ่าไทแสกมาตั้งรกรากอยู่บนผืนแผ่นดินไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในหนังสือโบราณคดีเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวไทแสกว่า ถิ่นเดิมของชาวไทแสกอาศัยอยู่แถบเมืองวินห์ เมืองรอง ระหว่างชายแดนประเทศจีนและเวียดนาม มีนิสัยรักสงบ หากถูกรุกรานจะอพยพหาที่อยู่ใหม่ โดยล่องมาตามลำแม่น้ำโขง บางส่วนอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่แถบแคว้นสิบสองปันนา บางก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโพธิ์ค้ำ บ้านตอดดอกแค เมืองท่าแขก ประเทศลาวในปัจจุบัน และที่เหลือได้ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394)โดยมีโองมู้เป็นผู้นำในการอพยพครั้งนี้
ต่อมาพระสุนทรราชวงษา(ฝ้าย) ได้ให้ชาวไทแสกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ป่าหายโศก และด้วยเห็นว่าชาวชนเผ่านี้มีนิสัยรักสงบ จึงแต่งตั้งเป็นกองอาทมาต ทำหน้าที่คอยลาดตระเวนตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองอาทมาตเป็นชุมชนไทแสก ขึ้นกับเมืองนครพนม โดยให้ท้าวฆานบุตดีเป็นหลวงเอกอาษา ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าเมือง กาลต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมืองอาทมาตเป็นเมืองอาจสามารถ
โดยเอกสารจดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ.1191 เลขที่ 3 หอสมุดแห่งชาติ มีข้อความกล่าวถึงประวัติการตั้งเมืองอาจสามารถ ว่า “ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงให้ยกเลิกการปกครองแบบโบราณของเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งเคยปกครองแบบมีเจ้าเมือง อุปฮาต ราชวงศ์ และราชบุตร ให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง โดยเมืองนครพนม มีพระยาพนมนครานุรักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอเมืองนครพนม 2.เรณูนคร 3.อาจสามารถ 4.อากาศอำนวย 5.กุสุมาลย์ และ 6.มณฑลอำเภอโพธิไพศาล (ปัจจุบันอำเภออากาศอำนวย,กุสุมาลย์,และมณฑลฯโพธิไพศาล โอนไปขึ้นกับจังหวัดสกลนคร ส่วนอำเภออาจสามารถได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นตำบลอาจสามารถ เนื่องจากมีเขตติดกับอำเภอเมืองนครพนม ห่างกันแค่ 4 กิโลเมตร เท่านั้น)
ชนเผ่าไทแสกกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ที่บ้านอาจสามารถ และบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ มีบางส่วนที่แยกไปอาศัยอยู่ที่บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า ที่ห่างกัน 100 กว่ากิโลเมตร และบ้านดอนสมอ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
พิธีกรรมการกินเตรด ชาวไทแสกเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ก่อให้เกิดความผูกพัน สร้างจิตสำนึกให้มีความรักสามัคคี หวงแหนในวัฒนธรรมของตน มุ่งสอนผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่กว่า มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเป็นการพบปะสังสรรค์กันในชนเผ่า
กำนัน ต.อาจสามารถ กล่าวต่อว่า งานวันรวมใจไทแสก ปีนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย 1.ขบวนแห่ของชนเผ่าไทแสกของแต่ละหมู่ 2.พิธีกินเตรดเดน 3.การแสดงแสกเต้นสาก 4.จำลองวิถีชีวิตของบรรพบุรุษดั้งเดิม 5.ประกวดซุ้มซอย และ 6.การรื่นเริงตามประเพณี
“แสก” มีความหมายว่า “แจ้ง หรือ สว่าง” เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ชายแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาเวียดนามพยายามเข้าครอบครอง จึงรุกรานชาวไทแสกด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ นานา จนทำให้ชนไทแสกตกอยู่ในกำมือของเวียดนาม แต่ยังมีพี่น้องไทแสกบางกลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม จึงเกณฑ์สมัครพรรคพวกอพยพลงมาทางตอนใต้ ลัดเลาะป่าเขาถึงตอนกลางของประเทศลาว จึงตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ใกล้เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว อาทิ บ้านหม้อเตลิง, บ้านทอก, ท่าแค และบ้านโพธิ์ค้ำ
ส่วนชาวไทแสกอีกกลุ่ม ย้ายครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านโคกยาว” ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ต่อมาได้ขยับขยายบ้านย้ายถิ่นฐานจากบ้านโคกยาว มาอยู่ที่บ้านป่าหายโศก ปัจจุบันคือ ต.อาจสามารถ
ภายหลัง พระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) พิจารณาเห็นว่าชาวไทแสกมีความสามารถ มีความรักสามัคคี และเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชนชาวไทแสกที่อยู่ที่ ป่าหายโศกให้เป็นกองอาทมาต ทำหน้าที่คอยลาดตระเวนชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง
คำว่า “อาทมาต, อาทมาฏ, อาตมาท, อาทมารถ, หรืออาจสามารถ” เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในเพลงดาบ โดยเฉพาะการต่อสู้บนหลังม้า และมีความแข็งแกร่งในการสู้รบ และยังทำหน้าที่เป็นหน่วยสืบราชการลับ คอยสืบข่าวส่งให้เจ้าเมืองในยุคนั้นเสมอ
นอกจากนี้ชื่อของกองกำลังอาทมาต ยังเป็นชื่อเรียกในวิชาเพลงดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าเป็นมรดกตกทอดจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งยังมีพระอิสริยยศเป็นพระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก
พิธีบวงสรวงโองมู้ จะขาดไม่ได้คือการแสดง “แสกเต้นสาก” ในสมัยก่อนการเต้นสากของชาวไทแสกถือว่าเป็นการละเล่นประจำชนเผ่า จะมีขึ้นเฉพาะพิธีบวงสรวงโองมู้เท่านั้น ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งชาวไทแสกจะมีการแสดงแสกเต้นสากถวายโองมู้ โดยใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นก็คือ “ไม้สากกะเบือ” ที่ใช้ตำข้าวในสมัยโบราณ ลักษณะยาวประมาณ 2 เมตร ตรงกลางเรียวเล็ก ใช้เคาะจังหวะประกอบการเต้น ร่วมกับดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ และพังฮาด (มีลักษณะคล้ายฆ้อง ตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม) ปัจจุบันไม้สากตำข้าวยุคโบราณชาวบ้านเลิกตำข้าวกันแล้ว จึงพัฒนามาเป็นไม้ชนิดอื่นที่สมมติว่าเป็นไม้สากตำข้าว แม้เส้นเสียงจะไม่หนักแน่นเหมือนสากกะเบือยักษ์ แต่ความไพเราะก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การเต้นจะคล้ายๆ กับรำลาวกระทบไม้ เสียงดังโป๊กๆ แต่จังหวะการเต้นจะโจ๊ะกว่าเร็วกว่า มีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นคู่ โดยผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สากจะนั่งตรงข้ามจับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ คนเต้นกับคนเคาะไม้จะต้องเข้าขากัน ฟิตซ้อมกันมาอย่างดี หากอ่อนซ้อมเวลาร่ายรำตามจังหวะเพลงอาจจะยกแข้งยกขาพลาดจังหวะ ต่อมาการแสดงแสกเต้นสากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ เพื่อให้ดำรงคงอยู่เป็นสมบัติของชาวไทแสกตลอดไป พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งของจังหวัดนครพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: