X

ร.3 พัน.3 บวงสรวงอนุสาวรีย์และศาลพระยอดเมืองขวาง วีรบุรุษ ร.ศ.112 รำลึกถึงความดี

นครพนม – ร.3 พัน.3 บวงสรวงอนุสาวรีย์และศาลพระยอดเมืองขวาง วีรบุรุษ ร.ศ.112 รำลึกถึงความดี และสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 07.00 น. บริเวณศาลปู่พระยอดเมืองขวาง ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม พันโทอุทัย นิลเนตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ผบ.ร.3 พัน.3) เป็นประธานการประกอบพิธีสักการะและบวงสรวงศาลปู่และอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง โดยทางสมาคมแม่บ้านทหารบกฯ ร่วมกับชมรมผู้สูงวัยบ้านพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ จัดขึ้นเพื่อรำลึกคุณงามความดีของพ่อยอดเมืองขวาง และสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน

ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังพลภายในค่าย ตลอดจนครอบครัวและประชาชนทั่วไปในพื้นที่รอบค่ายพระยอดเมืองขวาง ได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ทั้งยังเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามสู่ลูกหลาน และรำลึกถึงคุณความดีของพระยอดเมืองขวาง ข้าราชการผู้ได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันอธิปไตยดินแดนไทย เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5

โดย พ.ท.อุทัย นิลเนตร ผบ.ร.3 พัน.3 นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญและครอบครัว ประกอบพิธีสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ บวงสรวงศาลปู่พระยอดเมืองขวาง และเจ้าพ่อหลวงโพธิ์ ร่วมวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวางเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พระยอดเมืองขวางและเหล่าทหารกล้าผู้วายชน ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง มีคุณสิริกัญญา นิลเนตร ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 เป็นผู้นำการประกอบพิธีสักการะและรำบวงสรวงศาลปู่และอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวางร่วมกับแม่บ้านของหน่วยและร่วมกับชมรมผู้สูงวัยบ้านพระยอดเมืองขวาง และลูกหลานชาวค่ายพระยอดเมืองขวาง โดยมีผู้เข้าร่วมรำ จำนวน 60 คน

โดยค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม นั้น เดิมชื่อว่าค่ายนาโพธิ์ แต่เกิดเหตุการณ์ประหลาด คือ มีฟ้าผ่าลงมาตรงกลางป้ายที่เขียนว่า ค่ายนาโพธิ์เป็นเหตุให้ป้ายแยกออกเป็น 2 ซีก แม้ทำป้ายมาเปลี่ยนใหม่ ก็ยังเกิดเหตุเช่นเดิมอีก กระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต่อมาก็มีนายทหารยศพลเอกท่านหนึ่ง ฝันเห็นชายใส่ชุดไทยเหมือนคนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดาบ กระบี่ ใส่หมวกบานอันใหญ่บอกว่าท่านคือพระยอดเมืองขวาง ต้องการให้ตั้งศาลสถิต เนื่องจากวิญญาณไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเร่ร่อนไปมาระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และค่ายพระยอดเมืองขวาง เมื่อตั้งศาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ไปอัญเชิญดวงวิญญาณกลับมาด้วย จึงกลายเป็นที่มาของศาลปู่พระยอดเมืองขวาง ที่เหล่าทหารในสังกัดค่ายพระยอดเมืองขวาง ตลอดจนประชาชนที่อยู่รอบค่ายให้ความเคารพนับถือ และมักจะมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ

พันโทสำเริง พิมพ์บุญมา ประธานชมรมข้าราชการบำนาญ มณฑลทหารบกที่ 210 (อดีตเคยปฏิบัติหน้าที่ในหน่วย ร.3 พัน.3 ในตำแหน่ง ผู้บังคับกองร้อยและนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก) เล่าถึงประวัติของพระยอดเมืองขวาง ว่า เป็นข้าราชการในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยะมหาราช) รัชกาลที่ 5 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองชายพระราชอาณาเขต คือ เมืองคำม่วน(แขวงคำม่วน สปป.ลาว ในปัจจุบัน) และได้ปฏิบัติภารกิจด้วยความรักชาติป้องกันอธิปไตยดินแดนไทย
กระทั่ง ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ฝรั่งเศสชาติมหาอำนาจในยุคนั้น ได้กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางกับพวก ได้ร่วมกันทำร้ายนายทหารฝรั่งเศสกับคณะถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ ฝรั่งเศสดำเนินการให้ฝ่ายไทยนำพระยอดเมืองขวางขึ้นฟ้องร้องและถูกลงโทษ
“ความจริงกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพระยอดเมืองขวางทำการต่อสู้เพื่อป้องกันดินแดน เมื่อมองซิเออร์ลุซ ชาวฝรั่งเศส คุมทหารเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำม่วน หัวเมืองด่าน ปลายพระราชอาณาเขตสยาม ทิศตะวันออก ซึ่งมีพระยอดเมืองขวาง เป็นข้าหลวงรักษาเมือง คดีนี้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิรูปศาลไทยของสยามประเทศในยุควิกฤติการณ์ ร.ศ.112 หรือสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พันโทสำเริง กล่าว

พันโทสำเริงเล่าต่อว่า การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้องและให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ สร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน เดินทางมาจากไซ่ง่อน(เวียดนาม)และสยามอีก 2 คน โดยเปิดศาลพิจารณาคดีเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2437 และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศสทั้งหมด
พระยอดเมืองขวางถูกจองจำอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2441 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท และท่านได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วยและเสียชีวิตใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) รวมสิริอายุได้ 48 ปี นอกจากนี้ท่านยังเป็นต้นสกุล “ยอดเพ็ชร์” และ “กฤษณมิตร” อีกด้วย
กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2497 มีชื่อเดิมว่า กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 6 ต่อมาแปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมแผนที่ 6 และปรับโอนการบังคับบัญชาเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2518 เปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มีที่ตั้งอยู่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ภายหลังย้ายที่ตั้งหน่วยจากค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ มายังที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บ้านนาโพธิ์ ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2514 จึงยึดถือเอาทุกวันที่ 22 เมษายน เป็นวันสถาปนาหน่วยอีกด้วย

ปัจจุบัน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มี พันโทอุทัย นิลเนตร เป็นผู้บังคับกองพัน ยอดกำลังพลจำนวน 749 นาย ภารกิจหลักของ ร.3 พัน.3 คือ เข้าประชิดข้าศึกโดยใช้อำนาจการยิง และการดำเนินกลยุทธ์เพื่อจับหรนือทำลายข้าศึก ผลักดันการเข้าตีของข้าศึกด้วยการยิงและการรบประชิด มีเกียรติประวัติของหน่วยนับจากปี พ.ศ.2510 ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สู้รบกลุ่มคอมมิวนิสต์ เช่นจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธิ์ อุบลฯ เป็นต้น

พ.ศ.2530 ปฏิบัติภารกิจผลักดันกองกำลังต่างชาติออกจากพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลฯ และต่อถึงปี พ.ศ.2531 ปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศ ตามแนวชายแดนอีสานตอนล่าง บริเวณช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และบริเวณช่องโอบก อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

ล่วงถึงปี พ.ศ.2548 ร.3 พัน.3 ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชาแดนใต้ เช่น อ.รนะแงะ จ.นราธิวาส,อ.ปะนาเระ อ.ยะรัง อ.โคกโพธิ์ และ อ.เมือง จ.ปัตตานี

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555-มีนาคม 2557 ปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศตามแนวชายแดนอีสานตอนล่าง บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ จากนั้นได้รับมอบภารกิจให้เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลังเป็นกองพันทหารราบที่ 12 ภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ตามคำสั่งการป้องกันชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำปี 2562 เพื่อสนับสนุนกองกำลังสุรนารี เข้าปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศีรษะเกษ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562 เป็นต้นมา ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา

โดยกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มีวิสัยทัศน์ เป็นหน่วยที่มีความพร้อม มีศักยภาพ และทันสมัย ในการรักษาความมั่นคง ช่วยเหลือประชาชน และรักษาสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ บนพื้นฐานของความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน