X

ด่วน !! กระทรวงอุดมศึกษา คืนเรื่องโปรดเกล้าฯ อธิการบดี ม.นครพนม

นครพนม – ด่วน !! กระทรวงอุดมศึกษา คืนเรื่องโปรดเกล้าฯ อธิการบดี ม.นครพนม เน้นต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรมและจริยธรรม

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดย ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีหนังสือที่ อว 0227.5(7)/371 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมแนบเอกสารประกอบการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และหนังสือร้องเรียนผู้ถูกเสนอชื่อขอโปรดเกล้าฯ
โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้ ตามที่สภามหาวิทยาลัยนครพนม เสนอขอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และต่อมาสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขอให้สภามหาวิทยาลัยนครพนมพิจารณาตรวจสอบประเด็นข้อร้องเรียนฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นร้องเรียนดังกล่าว ได้มีข้อสั่งการไปยังนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบุคคลดังกล่าวรวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีผู้ร้องเรียนคัดค้านการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีฯ ในประเด็นร้องเรียนเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้อำนาจบริหารงานโดยไม่เป็นธรรมอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อ 5 (4) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2557 ซึ่งได้กำหนดคุณลักษณะของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีไว้ว่า “(4) เป็นผู้ทรงคุณธรรมและมีจริยธรรม” ประกอบกับหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0508/ว 101 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งแนวทางปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ ส่วนราชการจะต้องพึงระวังตรวจสอบกลั่นกรองว่าได้ดำเนินการเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งหากเป็นเรื่องร้องเรียน ก็สมควรได้ตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่ยุติเสียก่อน จึงจะขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป จึงมีคำสั่งให้สภามหาวิทยาลัยนครพนม พิจารณาทบทวนการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ส่งคืนเรื่องการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมเอกสารประกอบและหนังสือร้องเรียนทั้งหมดคืนให้สภามหาวิทยาลัยนครพนม

เหตุที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คืนเรื่องขอโปรดเกล้าฯ เนื่องจากมีผู้ยื่นเรื่องคัดค้านการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จำนวนมาก และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0509(5).7/1712 ลงวันที่ 5 เมษายน 2561 ถึงนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีการเสนอขอโปรดเกล้าฯ นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีฯ และสภามหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งมี ศ.(พิเศษ)ภาวิช ทองโรจน์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อสอบสวนประเด็นที่ สกอ. มีข้อสงสัย โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว มี พลเอกวิชิต ยาทิพย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการกว่า 20 คน ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องฝึกบินของวิทยาลัยการบินนานาชาติฯ ประสบอุบัติเหตุโหม่งโลก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยมีการอ้างว่านายพัฒนพงษ์ วันจันทึก มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้มีหน้าที่สั่งการโดยมิชอบ กล่าวคือให้มีการนำเครื่องฝึกบินไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ (ประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) ซึ่งเป็นญาติของตนเอง ที่ได้เดินทางมาร่วมฉลองตำแหน่งรองอธิการบดีฯ(ในขณะนั้น) ที่จังหวัดนครพนม โดยมีคำสั่งให้ไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ที่สนามบินดอนเมือง ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจการบินของ มหาวิทยาลัยนครพนม และเป็นการใช้เครื่องบินผิดวัตถุประสงค์ จนเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตดังกล่าว

ในประเด็นนี้ นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ชี้แจงว่าเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณา หรือสั่งการเรื่องดังกล่าวได้ ตนเพียงแค่สอบถามไปยัง นายถนอม ทาทอง รองอธิการบดีฯ (ในขณะนั้น) ว่า วิทยาลัยการบินนานาชาติ สามารถนำเครื่องบินไปส่งท่านประธานกองทุนฟื้นฟูได้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น จนกระทั่งมีการอนุมัติใช้อากาศยานรับ-ส่ง นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ซึ่ง นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ยืนยันว่าแค่สอบถามข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการใช้อากาศยานเท่านั้น แต่ผู้วินิจฉัยและอนุมัติ ว่า สามารถใช้อากาศยานของวิทยาลัยการบินนานาชาติได้หรือไม่ ก็คือคณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ
กรณีต่อเนื่องจากกรณีแรก ที่ยังไม่มีการดำเนินการทางวินัยและความผิดทางละเมิด ต่อนายพัฒนพงษ์ วันจันทึก เช่นความเสียหายของเครื่องฝึกบิน โดยในคำคัดค้านโปรดเกล้าฯ อ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้มูลว่า นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก เข้าข่ายมีความผิดทางวินัย พฤติกรรมเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป แต่ทางสภามหาวิทยาลัยกลับยังไม่ได้ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งข้อกล่าวหานี้ นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก แก้ข้อกล่าวหาว่า ตนไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโทษทางวินัย และมีความรับผิดทางละเมิดจากกรณีเครื่องฝึกบินตกดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่ 2 นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ตกเป็นจำเลยที่ 2 คดีกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ โดยศาลจังหวัดกาฬสินธ์ โดยมี รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ ปัจจุบันเป็นกรรมการสภา มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ ดอนภิรมย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดกลุ่มศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ คดีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด
ประเด็นที่ 3 นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก และ นางรัชนีกร วันจันทึก ภรรยา เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(ในขณะนั้น)ด้วยกัน โดยได้เปิดบริษัทเอกชน ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เกี่ยวข้อง

ในประเด็นนี้ นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ชี้แจงว่าเคยร่วมก่อตั้งบริษัท ไฮริช(1974) จำกัด ประเภทธุรกิจให้เช่ารถยนต์แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ โดยเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ เพียงทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางหลักวิชาการ และเป็นประธานในการประชุมบางกรณี แม้ตนจะมีอำนาจลงนามในบริษัทฯ แต่ก็ไม่ได้ควบคุมบริหารกิจการฯ การทำหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัทฯ ก็ทำในช่วงวันหยุดราชการ หรือนอกเวลาราชการ

ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2559 ได้ทำการโอนขายหุ้นจำนวน 18,000 หุ้น แก่นางทองเปลี่ยน พิลาสมบัติ(แม่ยาย) พร้อมลาออกจากกรรมการบริษัท จากนั้นวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ตนจึงได้มาปฏิบัติหน้าที่รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนครพนม ขณะเดียวกัน นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ยังอ้างว่าบริษัทที่เคยเป็นกรรมการนั้น ก็ไม่ได้มีนิติกรรมใดๆกับ มหาวิทยาลัยนครพนม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนประเด็น นางรัชนีกร วันจันทึก ภรรยา ก็ได้ลาออกและโอนขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561

ซึ่งมติในที่ประชุม วันที่ 9 มิถุนายน 2561 คงเดินหน้าการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และให้สำนักงานสภามหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ต่อไป
กระทั่ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีหนังสือด่วนที่สุด เกี่ยวกับการคืนเรื่องขอโปรดเกล้าฯ นายพัฒนพงษ์ วันจันทึก ดังกล่าวข้างต้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน