X

นครพนมขานรับตลาดนำการผลิต จับมือ 2 บริษัทใหญ่ MOU รับซื้อแตงโมไร้เมล็ด และผลไม้แช่แข็ง

นครพนม – ขานรับตลาดนำการผลิต จับมือ 2 บริษัทใหญ่ MOU รับซื้อแตงโมไร้เมล็ด และผลไม้แช่แข็ง สร้างเกษตรกรแปลงใหญ่มีรายได้กระเป๋าตุง

วันที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ถนนทางหลวงแผ่นดิน 212 หน้าสวนหลวง ร.9 ต.หนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) รับซื้อแตงโมและผลไม้แปรรูปแช่งแข็ง ระหว่างกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมไร้เมล็ด อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมี นางสาวเตือนใจ บุพศิริ เกษตรกรตัวอย่างผู้บุกเบิกแตงโมไร้เมล็ดเป็นประธาน กับ บริษัทฟรุตต้าเนเชอรัลจำกัด และ บริษัทเกษตรสุดใจจำกัด ซึ่งมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรร่วมให้การสนับสนุน และเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในการจัดพิธีลงนามในครั้งนี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีฯ เปิดเผยว่า ตามนโยบายตลาดนำการเกษตรของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร ให้เกิดมีมูลค่าในการตัดสินใจ เกิดความร่วมมือ และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการผลิตและการตลาด รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถ การแข่งขันในด้านต่างๆ
“เมื่อกลุ่มเกษตรกรรู้ความต้องการของตลาด จะสามารถนำมาวางแผนการผลิต ลดความเสี่ยงจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และยังทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดต้นทุน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆของสินค้า รวมถึงการมีแหล่งจำหน่ายสินค้าที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านรายได้ของเกษตรกร และช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสอนค้าเกษตรที่มีคุณภาพ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ด้าน นายร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดนครพนม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรฯได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุน ขับเคลื่อนภายใต้โครงการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลุกผัก ผลไม้ ข้าว และเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเกษตรกร ภายใต้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าแตงโม มุ่งเน้นให้กลุ่มเกษตรกรดำเนินการผลิต เกิดความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสรรกาเกษตรกร การฝึกอบรมการปลูก การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังผลิตสินค้าแตงโมที่มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และได้ส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือด้านการตลาด ระหว่างวิสาหกิจ บริษัท และสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยผลักดันให้วิสาหกิจฯ มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกลุ่มโรงงานแปรรูป ตลอดจนสามารถวางแผนการซื้อ-ขาย ผลผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของบริษัท เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา และสร้างความมั่นคงทางอาชีพ

เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวต่อว่า สำหรับแผนในการผลิตและรับซื้อแตงโม ในปี 2563 บริษัทมีเป้าหมาย 2,000 ตัน โดยซื้อขายด้วยราคาเป็นธรรมและตกลงกันล่วงหน้า รวมมูลค่า 29.5 ล้านบาท นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดฯ และกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน จะร่วมกันแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิก ในขั้นตอนการผลิตแตงโมให้ได้ตามปริมาณคุณภาพที่ตกลงกัน และบริษัทจะสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ดำเนินการรับซื้อผลผลิตสินค้าการเกษตรตามคุณภาพ และปริมาณที่กำหนดจากวิสาหกิจชุมชน โดยจะต้องมีการรายงานผลการผลิต และการรับซื้อให้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมทราบ เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต การพัฒนากลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรเครือข่ายอื่นๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายโครงการ โดยนำหลักการตลาดนำการผลิต

ซึ่งเริ่มจากกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมไร้เมล็ดของอำเภอศรีสงคราม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆในพื้นที่รวม 7 วิสาหกิจฯ ได้ก่อตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนา และต่อยอดเพิ่มมูลค่าผักผลไม้และข้าวเพื่อสังคมขึ้นในปี 2562 เพื่อนำผลผลิตของกลุ่มมาแปรรูปเพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร เน้นหลักๆ 4 ด้าน คือ การเพิ่มมูลค่า ขยายช่องทาง ลดต้นทุนการผลิต และสร้างอาชีพแบบครบวงจร นอกจากนี้ยังมีการจัดการเศษขยะจากการผลิต นำไปแปรรูปเป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมัก ดินเพาะ วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น และแปรรูปผลผลิต โดยนำไปต่อยอดเป็นขนม ของฝาก อาหาร ทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานในระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 365,884 ครัวเรือน พื้นที่ 6,020,845 ไร่ จำนวนแปลงใหญ่ 6,534 แปลง สินค้าเกษตรกว่า 70 รายการโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการกลุ่ม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด มีการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับตลาด ตามนโยบาย”การตลาดนำการเกษตร” สำหรับสมาชิกทุกรายในกลุ่ม จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ตั้งแต่การตกลงราคา การกำหนดชนิดและปริมาณผลผลิตที่ตกลงกับบริษัท ร่วมวางแผนการผลิต และเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ มีการตกลงราคาที่เป็นธรรม และให้ความรู้แก่เกษตรกรด้านการวางแผน ประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับการตลาด นอกจากนี้ยังขยายการรับซื้อไปถึงกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนขยายกลุ่มสินค้าในการรับซื้อไปถึงกลุ่มสินค้าอื่น เช่น ไม้ผล พัฒนาเกษตรกรจากผู้รวบรวมผลผลิต เป็นผู้คัดบรรจุผลผลิตในบรรจุภัณฑ์ โดยพัฒนาคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน