X

นครพนม น้ำโขงเริ่มทรงตัว ส่งซิกมีสัญญาณดีขึ้น ขณะพื้นที่การเกษตรพังยับเกือบ 2 แสนไร่

นครพนม – วันเสาร์ ที่ 25 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม มอบหมายให้นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.ฯ  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันเเละเเก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย เเละดินถล่ม ณ ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยมีกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งชลประทานจังหวัดนครพนมเป็นหน่วยงานหลักที่ได้นำเสนอสถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมในพื้นที่  ส่วนหน่วยงานอื่นเป็นฝ่ายช่วยเหลือสนับสนุน และทุกหน่วยต้องอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ร่วมกับผู้นำชุมชนเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล และ อบต. แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทราบตามขั้นตอน โดยทุกหน่วยจะต้องเข้าประชุมทุกวันในเวลา 09.00 น. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ

ภาพรวมสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงยังคงน่าเป็นห่วง และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน หลังจากมวลน้ำเหนือด้าน จ.เลย หนองคาย และบึงกาฬ ไหลหลากมาเติม โดยล่าสุดในวันนี้สามารถตรวจวัดระดับน้ำที่สถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม เวลา 12.00 น.  วัดได้ 12.39 เมตร เพิ่มขึ้น 1 ซม. ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าน้ำโขงเริ่มทรงตัว

อย่างไรก็ตามจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันมานานหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำที่สะสม ส่งผลกระทบกับลำน้ำสาขา โดยเฉพาะแม่น้ำสงคราม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานไหลผ่าน 5 จังหวัด คือ อุดรฯ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม โดยจะระบายลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากน้ำ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ซึ่งการไหลนั้นค่อนข้างช้า เนื่องจากน้ำโขงหนุนสูง อีกทั้งเขื่อนน้ำอูนที่ จ.สกลนคร ยังพร่องน้ำมาเติม ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสงครามได้พุ่งสูงเลยขอบตลิ่ง และเอ่อล้นไหลบ่าทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในพื้นที่ ต.หาดแพง หมู่ 1 บ้านอ้วน หมู่ 4,7 มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 35 ครัวเรือน บางแห่งถูกน้ำท่วมขังร่วมเดือน ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมสูง 50-80 ซม รถเล็กไม่สามารถผ่านได้

โดยทางชลประทานนครพนม ยังคงเร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อระบายลงน้ำโขงให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมรับมือ หากมีฝนตกหนักในพื้นที่เพิ่มอีก เบื้องต้นทางจังหวัดนครพนม ได้ประกาศเป็นพื้นที่ ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้วทั้งจังหวัดรวม 12 อำเภอ 94 ตำบล 908 หมู่บ้าน 17,454 ครัวเรือน มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 51,080 คน มีถนนได้รับความเสียหายกว่า 111 สาย และมีพื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบประมาณ 165,545 ไร่ แยกออกมาเป็นนาข้าว คาดว่าจะเสียหาย 162,970 ไร่ ยางพารา ปาล์ม ประมาณ 2,567 ไร่ และมันสำปะหลัง 8 ไร่  ซึ่งทางจังหวัดนครพนมได้ประสานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน