นครพนม – “โคตรบูร” เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองสืบทอดมายาวนาน เดิมตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง(ประเทศลาว) ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ฝั่งขวา(ประเทศไทย) มี”เจ้าโคตะ” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นราชบุตรเขย”พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง” ประมาณ พ.ศ.1896 ได้มาสร้างเมืองใหม่ที่ปากห้วยหินบูน (ฝั่งตรงข้ามกับ อ.ท่าอุเทน) แล้วตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “ศรีโคตรบูรณ์” เป็นเมืองลูกหลวงขึ้นตรงกับนครเวียงจันทน์ เล่ากันว่ามีการโยกย้ายเมืองหลายครั้ง กระทั่งย้ายมาตั้งอยู่ที่ “หนองจันทร์” ต.ท่าค้อ (ในปัจจุบัน) ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระราชทานทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเปลี่ยนนามเมืองเป็น “นครพนม” จังหวัดที่อยู่ไกลสุดในภาคอีสาน
นับจากชื่อ”ศรีโคตรบูรณ์”ถึง”นครพนม” วันนี้มีอายุเกือบ 700 ปี ย่อมมีเรื่องเล่ามากมายบนแผ่นดินนี้ นอกจาก”องค์พระธาตุพนม”แล้ว ยังมีของดีที่ควรค่าแก่การศึกษา รอผู้มาเยือนเข้ามาสัมผัสอีกเยอะแยะ สิ่งที่โดดเด่นมีทั้งประเพณี วัฒนธรรม ที่สวยงามไม่เป็นสองรองใคร เพราะจังหวัดนครพนมมีความหลากหลายของ 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ซึ่งล้วนรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น
นายตระกูล อานัด ท่องเที่ยวและกีฬาฯ(ทกจ.ฯ) ร่วมกับ นายธนิตศักดิ์ อุ่นตา วัฒนธรรมจังหวัดฯ เกี่ยวก้อยมากับนายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สำนักงานนครพนม) เห็นว่านครพนมมีศักยภาพสูงทั้งด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี สามารถนำเล่าเรื่องราววิถีชีวิตผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวได้ ประกอบกับรัฐบาล มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สร้างเศรษฐกิจด้วยปัญญา ยกระดับเศรษฐกิจให้มีการขยายตัว อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน มุ่งเน้นพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพระดับ 5 ดาว โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทยในจังหวัดนครพนม จึงถือกำเนิดขึ้นจากไอเดียของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สามเกลอหัวดีจาก 3 หน่วยงาน จึงร่วมกันเปิดเส้นทางจาริกแสวงบุญ ไหว้ 8 พระธาตุประจำวันเกิด 1 องค์พระปฏิมา คอนเซ็ปต์ของงานคือภายใน 1 วัน ไปครบทุกแห่ง โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.ฯ ให้เกียรติมาเป็นกล่าวถึงภาพรวมการจัดงานวันเดียวกราวรูดทั้ง 8 พระธาตุ 1 พระปฏิมา บางคนติงว่าอาจจะรีบไหว้รีบกราบแล้วรีบกลับหรือเปล่า ก็ติดตามผู้เขียนไปด้วยกันว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นถูกหรือผิด
ข่าวน่าสนใจ:
วันอังคารที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนแปดโมงเช้านัดเจอกันที่หน้า”วัดมหาธาตุ” ริมฝั่งโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเป็นจุดแรกในทริปไหว้ 8 พระธาตุ 1 พระปฏิมา วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้ง”พระธาตุนคร” ประจำผู้เกิดวันเสาร์ จากนั้นรถบัสก็นำพาพวกเราบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือมุ่งสู่ อ.ท่าอุเทน สถานที่ตั้งองค์”พระธาตุท่าอุเทน” ของผู้เกิดวันศุกร์ หลวงปู่สีทัตถ์ เป็นผู้สร้างเมื่อปี 2454 กติกาไม่ยุ่งยากใช้เวลาในแต่ละแห่ง 30 นาที แต่พอใช้จริงๆไม่ถึง 30 นาที ก็ไปไหว้ “พระบาง” ที่วัดไตรภูมิ เพราะห่างจากวัดพระธาตุท่าอุเทนเพียง 1 กม. พระบางเป็นพระยืนปางห้ามสมุทร หล่อด้วยโลหะผสม จากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคได้แก่ ทองคำ นาก เงิน ทองคำขาว และทองแดง
มีประวัติเล่าว่า ราว พ.ศ.2450 หลวงปู่ตา หงษี เป็นพระสงฆ์ไทยที่เจ้าเมืองหินบูน และชาวเมืองคำเกิด ประเทศลาว ให้ความเคารพศรัทธามาก มีชาวลาวข้ามฟากมาเล่าว่ามีพระบางประดิษฐานอยู่ที่นาคก ลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ท่านจึงข้ามเรือไปขอกับเจ้าเมืองหินบูน ครั้งแรกนำมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ไตรภูมิจนถึงปัจจุบัน
เรามุ่งหน้าต่อไปที่”วัดธาตุประสิทธิ์” อ.นาหว้า พระธาตุประจำของผู้เกิดวันพฤหัส ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุรวม 7 องค์ ตรงนี้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง เพราะได้แวะชมศูนย์หัตถกรรมผ้าไหม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แล้วไปเติมพลังทานข้าวเที่ยงก่อนจะเบนหัวรถลงทางทิศใต้ เป้าหมายข้างหน้าคือ”วัดธาตุมหาชัย” อ.ปลาปาก ประจำผู้เกิดวันพุธ(กลางวัน) บรรจุอรหันตสารีริกธาตุของพระอัญญาโกณทัญญะ พระสารีบุตร และพระอนุรุทร นับว่าเป็นปูชนียสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง
พลขับรถบัสมีความชำนาญทาง ใช้เส้นทางลัดเพื่อจะไปยัง”วัดศรีคูณ” อ.นาแก ที่ตั้ง”พระธาตุศรีคูณ” ประจำผู้เกิดวันอังคาร แต่เหมือนพวกเราจะสร้างบุญกันไว้เยอะ ทางที่จะไปวัดศรีคูณจะต้องผ่าน”วัดโฆสมังคลาราม” ต.โคกสว่าง อ.ปลาปาก สถานที่ตั้ง”พระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม” ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครพนม เห็นทหารจากมณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) ระดมพลตั้งเต็นท์เตรียมต้อนรับ พอเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางมาเป็นประธานประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐาน ณ พระมหาธาตุเจดีย์ฯ เราจึงไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง
“พระธาตุศรีคูณ” ภายในบรรจุพระอรหันตธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอัครสาวกซ้ายขวาของพระพุทธเจ้า และพระสังกัจจายนะ ตามตำนานของพระธาตุองค์นี้ มีกษัตริย์นักรบเป็นผู้ก่อสร้าง ตรงกับลักษณะของผู้เกิดวันอังคารซึ่งจะเป็นนักต่อสู้ มีน้ำอดน้ำทนเป็นเยี่ยม เชื่อว่าหากใครได้ไปสักการะจะได้อานิสงส์ มีศักด์ศรีทวีคูณ และจะเสริมสร้างพลังนักสู้ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น ห่างจากวัดศรีคูณแค่ 1 กม. เป็นวัดศรีจำปา แรกทีเดียววัดแห่งนี้ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จนปี 2559 มีผู้ค้นพบ”พระพุทธรูปทองคำ” เท่านั้นแหละผู้คนก็หลั่งไหลมากราบไหว้ราวน้ำประปาแตก แน่นอนเราไม่พลาดที่จะไปกราบไหว้ขอพร ก่อนคนขับจะโยกคันเกียร์เดินทางไปยัง”วัดพระธาตุพนม” อ.ธาตุพนม ประจำผู้เกิดวันศุกร์ ซึ่งทราบกันดีว่าพระธาตุพนมคือองค์ปฐมของพระธาตุต่างๆทั่วภาคอีสาน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า
กราบสักการะองค์พระธาตุพนมเสร็จ เดินทางไปที่ “วัดธาตุเรณู” อ.เรณูนคร สถานที่ประดิษฐานพระธาตุเรณู ประจำผู้เกิดวันจันทร์ เดินเวียนเทียนกันเรียบร้อย ก็ไปยัง”วัดมรุกขนคร” อ.ธาตุพนม ประจำผู้เกิดวันพุธกลางคืน เป็นพระธาตุจุดสุดท้ายในการทัวร์สายบุญไหว้ 8 พระธาตุ 1 พระปฏิมา ยังมีเวลาเหลือแถมให้อีก 1 พระธาตุ 1 พระปฏิมา รวมเป็นไหว้ 9 พระธาตุ 2 พระปฏิมา
รถบัสนำพากลับยังจุดหมายแรกวัดมหาธาตุ เวลาหกโมงเย็นนิดๆ อิ่มบุญอิ่มใจกับการเดินสายไหว้พระ ไม่ฉุกละหุก ไม่ต้องเร่งรีบ ไปแบบเบิร์ดเบิร์ด ถึงบ้านทานข้าวอาบน้ำหลับฝันดี โชคดีตลอดปีตลอดชาติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: