นครพนม – “ไม่ใช่เก่งแต่รบ” ผบ.ร.3 พัน.3 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ลุยช่วยเหลือชาวสวนลิ้นจี่นครพนม หลังเจอพิษโควิดลูกค้าหด
วันที่ 5 เมษายน 2563 พ.ท.อุทัย นิลเนตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ผบ.ร.3 พัน.3) ค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมด้วย คุณสิริกัญญา นิลเนตร ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ.สาขา ร.3 พัน.3 รวมถึงคณะแม่บ้านทหาร และ กำลังพลบางส่วน ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ พันธุ์นครพนม 1 หรือ นพ. 1 ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวของอีสาน ที่มีการปลูกลิ้นจี่ ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง มากกว่า 400 -500 ไร่ ซึ่งเป็นลิ้นจี่พันธุ์ขึ้นชื่อของจังหวัดฯ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง เวียดนาม ฯลฯ
เนื่องจากมีผลผลิตคุณภาพที่เป็นสินค้า GI ได้รับรองทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีความโดดเด่นคือ มีผลขนาดใหญ่ จำนวน 32-36 ผล/กก. รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด เนื้อผลแห้งสีขาวขุ่นหนา 0.98 ซม. ความหวาน 18-20 องศาบริกซ์ ผิวผลสีแดงไม่มีสีเขียวปน รูปทรงเหมือนไข่ โดยในช่วงเมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต สร้างรายได้แก่เกษตรกรปีละหลาย 10 ล้านบาท
แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปขายทางจีนซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สุด รวมถึงมีปัญหาด้านการตลาดในประเทศ ทั้งการขนส่ง ตลอดจนการควบคุมการเดินทางของประชาชน นักท่องเที่ยว ทำให้กระทบด้านการตลาด การซื้อขายล่าช้ากว่าภาวะปกติ เสี่ยงต่อปัญหาล้นตลาด รวมถึงผลผลิตเสียหาย ส่งขายตลาดไม่ทัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
- "นครพนมฮือฮา! งานศพสุดแปลก ใส่ชุดแดงฟ้อนรำส่งดวงวิญญาณ ‘เจ้แข่น’ ปิดตำนานสาวสองแห่งอำเภอนาทม
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
- น้องขวัญ นายก อบจ.นครพนม ลาออก ก่อนครบวาระ 3 วัน จ่อลงชิงป้องกันแชมป์
เบื้องต้นทาง เกษตรจังหวัดนครพนม ได้ร่วมกับไปรษณีย์ไทย สาขานครพนม เข้ามาจัดซื้อไปวางขายตามสาขาต่างๆในพื้นที่ภาคอีสาน โดยรับเป็นพ่อค้าคนกลาง ในการจัดส่งขายผ่านตลาดสินค้าออนไลน์ ผ่านเว็ปไซต์ https://www.thailandpostmart.com หรือสามารถติดต่อซื้อกับเกษตรกรโดยตรง และจะมีการจัดส่งผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย ได้ที่โทรศัพท์ โทร. 08-1320-1645, 06-1309-6720 และ 09-1771-9168 ซึ่งปัจจุบันมีราคาขาย กิโลกรัมละ 80 -100 บาท
ในส่วนของ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 ค่ายพระยอดเมืองขวาง(ร.3 พัน.3) จ.นครพนม โดย พ.ท.อุทัย นิลเนตร ผบ.ร.3 พัน.3 ได้ประสานกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อทำการรับซื้อ นำไปสนับสนุนเป็นเมนูอาหารเสริมให้กำลังพลในหน่วย ได้รับประทานผลไม้ที่สดสะอาดปลอดภัย รสชาติอร่อย โดยจัดซื้อนำไปแจกจ่าย ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มแม่บ้านทหาร รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ได้ช่วยเหลือเกษตรกร มาอุดหนุนลิ้นจี่คุณภาพ เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด และกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด แก้ปัญหาการล้นตลาด และให้สามารถขายหมดได้ทันฤดูกาล ป้องกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากช่วงนี้เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน นอกจากนี้ยังได้หารือแนวทางกับกลุ่มเกษตรกร ในเรื่องของการดูแลช่วยเหลือด้านการขนส่ง เพื่อป้อนสู่ตลาด ในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบในการขนส่งสินค้าไปต่างจังหวัด โดยจะได้หารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ช่วยเหลือ หากประชาชน ร้องขอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ลิ้นจี่นครพนม(นพ.1) เป็นลิ้นจี่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดในจังหวัดนครพนม ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภาคอีสานตอนบนได้เป็นอย่างดี แตกต่างจากลิ้นจี่ทางภาคเหนือ คือต้องการอากาศหนาวเย็นน้อยกว่า ในการกระตุ้นการออกดอก จึงให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวเร็วในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
และลิ้นจี่นครพนมจากที่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งเป็นลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียง จนได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2556 เป็นผลไม้ GI เงินล้านของจังหวัดนครพนม และปี 2560 ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ผลไม้ GI จากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน
เรื่องราวความเป็นมาของลิ้นจี่นครพนม ว่ากันว่าหลวงปู่จันทร์ เขมิโย หรือพระเทพสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม พระเถรานุเถระ 5 แผ่นดิน ท่านได้ฉันลิ้นจี่ที่ญาติโยมนำมาถวายที่กุฏิ รู้สึกชื่นชอบในรสชาติจึงมอบเมล็ดลิ้นจี่ให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นชาวบ้านนาโดน ต.ขามเฒ่า ลองนำไปปลูก
ต่อมามีเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ พบต้นลิ้นจี่ต้นนี้อยู่ในบ้านของเกษตรกรผู้นี้ มีลักษณะพิเศษโดดเด่นไม่เหมือนใคร คือ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลใหญ่ เนื้อแห้ง ไม่เละ และค้นพบว่าลิ้นจี่นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นดินแบบนี้ ประกอบกับพื้นที่ ต.ขามเฒ่า มีอากาศหนาวสุดในจังหวัด ทำให้ลิ้นจี่ให้เนื้อแน่นและหวานอมเปรี้ยว จึงนำมาขยายพันธุ์ จนกลายมาเป็นลิ้นจี่ประจำจังหวัด ได้ชื่อพันธุ์อย่างเป็นทางการว่า พันธุ์นครพนม 1 (นพ.1) ในปัจจุบัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: