นครพนม – “โควิดบวกเคอร์ฟิว” พ่อค้าเร่รถพุ่มพวงอ้วก รายได้ลดเกินครึ่ง โอดหนี้สินเป็นภาระยังต้องชำระ
วันที่ 5 เมษายน 2563 หลังจังหวัดนครพนมใช้ยาแรง เพิ่มมาตรการเข้มเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ทั้งการควบคุมการจำหน่ายสินค้า สถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา โดยห้ามประชาชนออกจากบ้านตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด คือตังแต่ 22.00-04.00 น.
มาตรการดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะพ่อค้าตามตลาดสดต่างๆ ที่มีการลงทุนวันต่อวัน แบบหาเช้ากินค่ำ และชาวบ้านที่มีอาชีพค้าขายอาหารพื้นบ้าน รวมถึงของป่า เช่น เห็ด ผักหวานป่า หน่อไม้ ฯลฯ หรือไข่มดแดง เป็นต้น เริ่มได้รับความเดือดร้อน หลังเจอพิษโรคโควิด-19 ระบาด บวกกับการประกาศคำสั่งเคอร์ฟิวของรัฐบาล ทำให้ยอดขายลดลงเกินครึ่ง กรณีมีประชาชน นักท่องเที่ยว ออกมาจับจ่ายซื้อของน้อยลงขาดรายได้ แต่ยังต้องแบกภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ
เช่นพื้นที่ตลาดสดเทศบาลตำบลนาแก อ.นาแก จ.นคพรนม ซึ่งถือเป็นตลาดสดที่จำหน่ายสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค รวมถึง พืชผัก อาหารสด ขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการค้าขาย เชื่อมโยงหลายอำเภอ ถึงเขตจังหวัดสกลนครบางส่วน ทุกวันปกติในตลาดจะมีเงินสะพัดวันละหลายล้านบาท เพราะมีพ่อค้า แม่ค้า เดินทางนำสินค้า อาหารสด พืชผัก ต่างๆ มาจำหน่าย ตั้งแต่เวลา ตี 1 ของทุกวัน จะมีพ่อค้าแม่ค้าตามหมู่บ้าน รวมถึงรถกับข้าวเร่ หรือที่เรียกว่ารถพุ่มพวงมารับซื้อไปเร่ขายตามชุมชนหมู่บ้าน สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดทุกวัน แต่หลังเกิดวิกฤตโรคโควิด 19 ระบาด บวกกับการประกาศเคอร์ฟิว จึงส่งผลกระทบหนัก บรรดาพ่อค้า แม่ค้าต้องเปลี่ยนเวลาออกมาจับจ่ายซื้อของ ในช่วงตี 4 -5 ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายซื้อของได้ทัน เพราะผู้ขายส่งบางรายต้องเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพื่อนำสินค้ามาส่งให้รายย่อย และต้องนำไปเร่ขายตามหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ยืดเวลาออกไป ส่งผลให้ลูกค้าลดลง และมีประชาชน ออกมาจับจ่ายซื้อของน้อย โดยจากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าระบุว่า ช่วงนี้กระทบเศรษฐกิจการค้าเป็นอย่างมาก ทั้งการขนส่ง ห้วงเวลา ในการจำหน่าย ทำให้รายได้ลดลงเกินครึ่ง
ข่าวน่าสนใจ:
นายสมคิด ขันตี อายุ 61ปี พ่อค้าเร่รถพุ่มพวง ชาว อ.ปลาปาก จ.นครพนม เปิดเผยว่า ช่วงนี้ยอมรับว่าเดือดร้อนมาก หลังเกิดโรคโควิดระบาด จากปกติตนจะเดินทางจากปลาปากมาตลาดสดนาแก ตั้งแต่ ตี 1 เพราะต้องเผื่อเวลาซื้อของ รวมถึงการเดินทางกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อให้ทันเวลาที่จะตระเวนไปขายให้ชาวบ้าน ในหมู่บ้านต่างๆ ของอำเภอใกล้เคียง แต่หลังจากมีการประกาศ เปิด-ปิดตลาดตามเวลารัฐบาลกำหนด คือ ให้เปิดตั้งแต่ตี 5 ถึงเวลา18.00 น. จากปกติตนต้อง เดินทางมาตี 1 ต้อง เดินทางมาช่วงตี 4- 5 ทำให้ซื้อของไม่ทันเวลา อีกทั้งช่วงนี้ซื้อของยาก พ่อค้าที่นำสินค้า อาหาร มาวางขายบางราย มีปัญหาเรื่องเวลา ทำให้หยุดขาย หาซื้อของไปขายยาก พอซื้อเสร็จต้องเดินทางต่อไปเร่ขาย กว่าจะไปขายได้ก็ประมาณ 07.00 –08.00 น. พอไปตระเวนขายตามหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ออกไปทำงาน ทำเรือกสวนไร่นาหมดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือขาดรายได้ ขายยาก รายได้ลดลงเกินครึ่ง ยิ่งช่วงนี้รายได้ลด 70 เปอร์เซ็นต์ ฝากรัฐบาลหามาตรการดูแลแก้ไข หากควบคุมป้องกันโรคเพียงอย่างเดียวไม่คำนึงถึงผลกระทบชาวบ้าน ระยะยาวเดือดร้อนหนักแน่ บางคนมีภาระหนี้สินต้องใช้จ่ายวันต่อวัน
สำหรับรถพุ่มพวง บ้างก็เรียก รถกับข้าว, รถโตงเตง คือ รถกระบะที่เปิดท้ายขายของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ โดยมีสินค้ามักจะห้อยเป็นพวง ๆ จับเป็นกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่ม ๆ ไว้ทั่วตัวถังรถ โดยวิ่งไปขายตามชุมชนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ตามพื้นที่ก่อสร้าง ไปจนถึงบ้านเดี่ยว บางรายเปิดเพลงสลับพูดผ่านไมโครโฟน นอกจากจะมีการดัดแปลงรถกระบะแล้ว ยังมีการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ และรถจักรยานยนต์สามล้อ (ซาเล้ง) เป็นรถขายของด้วย เวลาที่เร่ขายมักเป็นช่วงเช้า และรถพุ่มพวงบางคัน ไม่ได้ขายเฉพาะของสด ของแห้ง ยังมีอาหารสำเร็จรูป เป็นแกงถุง ผัดเผ็ด รวมทั้งของว่างของทานเล่นอย่าง ข้าวโพดต้ม ถั่วต้ม มันต้ม ฯลฯ ห้อยท้ายเป็นถุง ๆ อีกด้วย
ชื่อรถพุ่มพวงนั้น น่าจะมาจากการห้อยสินค้า “เป็นพุ่มเป็นพวง” เพื่อง่ายต่อการวางสินค้าและคิดราคา และการจัดวางสินค้าทุกอย่างไว้พื้นที่ท้ายกระบะจะทำได้น้อย และเกิดการซ้อนทับ เมื่อเป็นอาหารประเภทผักถ้าซ้อนทับกันมากๆ ผักก็จะช้ำ การห้อยไว้ในพื้นที่ด้านข้าง จึงเป็นการใช้พื้นที่ในแนวตั้งให้เกิดประโยชน์ หาสินค้าได้ง่าย ไม่ต้องควานหาให้วุ่นวาย รถพุ่มพวงจึงเป็นรถขายสินค้าที่รวมเอาตลาดสดและร้านโชห่วยเข้าไว้ด้วยกัน โดยตระเวนขายสินค้าและบริการให้กับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลหรือที่ไม่ได้รับความสะดวกจากบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
รถพุ่มพวงน่าจะเกิดขึ้นและแพร่หลายในยุครุ่งเรืองของธุรกิจจัดสรรที่ดิน ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531–34) ซึ่งมีการตัดถนนสายใหม่ ๆ สู่ชานเมือง เริ่มมีโครงการจัดสรร มีแคมป์คนงาน อีกปัจจัยคือ การรุกเข้ามาของร้านสะดวกซื้อใน พ.ศ. 2532 ทำให้มีผลกระทบต่อร้านโชห่วยดั้งเดิม จึงมีกำเนิดรถพุ่มพวงดังกล่าวข้างต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: