นครพนม – ศาลนครพนมสั่งจำคุกไม่รอลงอาญา ชาวลาวฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว ผู้ว่างัดกฎเหล็กเข้มด่านพรมแดนไทยลาว ย้อนรอย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นครั้งแรกงัดใช้สู้กับโรคไวรัสมรณะ
กรณี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นคพรนม เพิ่มความเข้มข้นในการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ปิดธุรกิจกลุ่มเสี่ยงทุกประเภท รวมถึงการปิดด่านจุดผ่อนปรนตามอำเภอชายแดนริมแม่น้ำโขงรวม 4 อำเภอ เหลือเพียงด่านถาวรคือ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) ที่ยังอนุโลมให้แรงงานต่างด้าวชาวลาว และเวียดนามเดินทางกลับประเทศ อนุญาตให้เฉพาะการนำเข้า-ออกสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรและสินค้าผ่านแดน โดยอนุญาตให้มีพนักงานขับรถสินค้า 1 คน และเด็กประจำรถอีก 1 คน รวมเป็น 2 คนเท่านั้น ห้ามประชาชน นักท่องเที่ยว เข้าออก เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด
ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2563 จังหวัดนครพนม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ได้มีประกาศคำสั่งห้ามบุคคลต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงงดการอนุโลมการเดินทางเข้า-ออก บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ส่วนรถบรรทุกสินค้ ยังสามารถเดินทางขนส่งระหว่างประเทศได้ แต่บุคคลที่ประจำรถหากมีการออกนอกประเทศ เกิน 5 ชั่วโมง เมื่อกลับเข้ามาจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว เพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน พร้อมมีคำสั่งเด็ดขาด หากพบบุคคลต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ จะมีการจับกุมดำเนินคดีทันที
ข่าวน่าสนใจ:
คืบหน้าล่าสุด วันที่ 6 เมษายน 2563 ตำรวจภูธรนครพนม โดย พ.ต.อ.พลาเดช เพ็ชรหว้าโง๊ะ รอง ผบก.ภ.จว.นครพนม แจ้งผลการจับกุม ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว) เมื่อคืนที่ผ่านมา(5 เมษายน) แยกตาม สภ. มีดังนี้ นาทม 1 ราย,นาแก 9 ราย,นาหว้า 2 ราย,นาโดน 1 ราย,ปลาปาก 1 ราย,เมือง 6 ราย,ท่าอุเทน 1 ราย,บ้านแพง 3 ราย,ศรีสงคราม 1 ราย และ สภ.หลักศิลา 1 ราย รวมทั้งสิ้น 26 ราย โดยทุกรายจะถูกส่งศาลจังหวัดพิจารณาคดี ตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รอง ผบก.ภ.จว.นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินการทางคดี หลังมีการเพิ่มมาตรการเข้มตามคำสั่งรัฐบาล ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด รวมถึงคำสั่งเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นวันแรก ทางจังหวัดนครพนมบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และผู้นำชุมชนท้องถิ่น แต่ยังพบผู้ฝ่าฝืนกระทำผิด ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม พร้อม เจ้าหน้าที่ตำรวจงานป้องกันปราบปราม สภ.เมืองนครพนม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ มีการจับกุม ชาวไทย 1 ราย พร้อมแรงงานต่างด้าว สัญชาติลาว จำนวน 5 ราย ที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด เข้ามาในพื้นที่เพื่อหาทางข้ามไปยังฝั่งประเทศลาว โดยตรวจสอบพบนั่งโดยสารมากับรถตู้ ผ่านมาบริเวณจุดตรวจคัดกรอง ถนนสกลนคร – นครพนม เขต ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม ช่วงเวลา 23.00 น. ซึ่งถือเป็นช่วงเคอร์ฟิว ตรวจสอบมีเอกสารหนังสือเดินทางถูกต้อง จึงได้จับกุมดำเนินคดี ในข้อหา ออกนอกเคหะสถานเวลา 22.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้รับการยกเว้นหรือเหตุจำเป็นอื่นๆ และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ พร้อมนำตัวดำเนินคดี ส่งฟ้องศาลตามกฎหมาย ทั้งนี้ทางศาลจังหวัดนครพนม ได้พิจารณาตัดสินเป็นคดีแรก หลังคำสั่งเคอร์ฟิวประกาศใช้ โดยศาลตัดสินจำคุก 1 เดือน แต่ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 15 วัน อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน เปลี่ยนโทษจากจำคุก 15 วัน เป็นกักขัง 15 วัน ก่อนควบคุมตัวนำส่งไปกักขังที่เรือนจำกลางนครพนม หลังพ้นโทษจะมีการผลักดันส่งกลับประเทศบ้านเกิดต่อไป
สำหรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้นำ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับไวรัสมรณะโควิด-19 เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ฯ รัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณภัยต่อสู้กับเชื้อโรค ที่ไม่ใช่ภัยความมั่นคง ต่อสู้กับอริราชศัตรู หรือควบคุมความสงบในประเทศ ถ้านับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้โควิดครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 18
ย้อนรอยสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทย ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตกบฏวังหลวง ที่เกิดจากนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มอดีตเสรีไทย พร้อมกับคณะนายทหารเรือส่วนหนึ่งพยายามก่อการรัฐประหาร เพื่อที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หลังต้องลี้ภัยจากเหตุการณ์รัฐประหาร 29 พ.ย. 2490
ครั้งที่ 2 หลังรัฐสภาผ่านกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2495 ถัดจากนั้นกว่า 1 ปี จอมพล ป.ฯ ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่อำเภอสะเดา,หาดใหญ่ กิ่งอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง,บันนังสตา จังหวัดยะลา โดยให้เหตุผลในการประกาศว่า มีกองโจรจีนบางส่วน มั่วสุมก่อการร้ายเขตรัฐมลายู ได้หลบหนีซุ่มซ่อนไปมาข้ามเขตระหว่างไทยและรัฐมลายู ทำให้เป็นภัยความมั่นคง
ครั้งที่ 3 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2496 ในเขตท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม และอุบลราชธานี จากเหตุภัยคอมมิวนิสต์
ครั้งที่ 4 วันที่ 28 ธันวาคม 2496 รัฐบาลจอมพล ป.ฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สกลนคร และศรีสะเกษ ซึ่งเป็นประกาศพื้นที่เพิ่มเติมจากการประกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม
ครั้งที่ 5 รัฐบาลจอมพล ป.ฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2500 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีจอมพล ป.ฯ เป็นหัวหน้าพรรคชนะเลือกตั้ง แต่ถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก นิสิต นักศึกษา ประชาชนเดินขบวนประท้วงไปถึงทำเนียบรัฐบาล
ครั้งที่ 6 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2501 เพราะมีโจรผู้ร้ายตามจังหวัดชายแดน ปล้นสะดมทรัพย์สิน ทำร้ายประชาชน และมีการแทรกซึมของขบวนการคอมมิวนิสต์
ครั้งที่ 7 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2517 เนื่องจากมีบุคคลบางจำพวก ประกอบด้วยบุคคลอันธพาลเป็นส่วนใหญ่ ก่อความไม่สงบใน กทม. ทำลายทรัพย์สินราชการและประชาชน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก่อวินาศกรรม
ครั้งที่ 8 มีความพยายามจะรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้น แต่สุดท้ายเกิดเหตุนัดแล้วไม่มาหรือเพื่อนผิดนัด ทำให้กลายเป็นกบฏ รัฐบาล พล.อ.เปรมจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528
ครั้งที่ 9 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 จากเหตุการณ์เผาโรงงานแทนทาลัมที่ จ.ภูเก็ต
ครั้งที่ 10 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ครั้งที่ 11 เป็นการประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ครั้งแรก โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และ จังหวัดยะลา ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยต่ออายุการบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน 14 ปีเศษ
ครั้งที่ 12 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที กทม.เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ครั้งที่ 13 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่เขตดอนเมืองและเขตลาดกระบัง กทม. และ อ.บางพลี,บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 กรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ
ครั้งที่ 14 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 จากเหตุการณ์ที่ นปช.ล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
ครั้งที่ 15 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. จังหวัดนนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.
ครั้งที่ 16 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. จังหวัดนนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จังสมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และ อ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.
ครั้งที่ 17 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี อ.บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 จากการชุมนุมของ กปปส.
พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกอบด้วยกฎบังคับหลัก 6 ข้อ คือ 1.ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหะสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหน
5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
และ 6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนดตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: