นครพนม – วันที่ 7 กันยายน 2561 ที่หอประชุมศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งไทยระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ภายใต้ชื่อ One Transport for All 2018 : On the Move พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ คมนาคม 4 ปี + อนาคตเพื่ออีสานยั่งยืน โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐเอกชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ร่วมกิจกรรม
โดยการปาฐกถาพิเศษและการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย (พ.ศ.2558 – 2565) ในครึ่งทางแรก ระหว่างปี 2558 – ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของแต่ละโครงการ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงแผนดำเนินงานในอนาคตที่จะมีโครงการต่างๆเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงปี 2565 ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการคมนาคมของประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค โดยให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ การยกระดับคุณภาพการบริการภาคคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐานสากลและสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและปฏิรูปองค์กร การพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับการคมนาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอีก 4 ปี ข้างหน้าและในอนาคตนั้นจะมีการพัฒนาระบบคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวก ความรวดเร็วในการเดินทาง ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางเบาจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ – นครราชสีมา – หนองคาย การแก้ปัญหาจราจรในเมืองอุบลราชธานีกับทางลอดแยกดงอู่ผึ้ง รวมไปถึงโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดนครพนมที่กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น การก่อสร้างถนนจากท่าอากาศยานนครพนม – สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม โครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดนเพื่อเป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้าผ่านทางสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม จีน และ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: