X

นครพนมรวบ 14 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผวจ.ฯ​ คาดโทษนายจ้างมั่วนิ่ม กดเงินเดือนลูกน้องช่วงโควิด

นครพนม – รวบ 14 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผวจ.ฯ​ คาดโทษนายจ้างมั่วนิ่ม กดเงินเดือนลูกน้องช่วงโควิด ย้ำจ่ายต่ำกว่ากฎหมายแรงงานกำหนดฟันไม่เลี้ยง

สืบเนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งเรื่องการยกระดับมาตรการในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมโดยกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 เมษายน เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น

ซึ่งปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้กระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเคอร์ฟิวตามที่รัฐบาลกำหนดมากถึง 26 ราย จึงได้จับกุมดำเนินคดี ในข้อหาออกนอกเคหะสถานเวลา 22.00 น. – 04.00 น. โดยไม่ได้รับการยกเว้นหรือเหตุจำเป็นอื่นๆ และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ พร้อมนำตัวดำเนินคดี ส่งฟ้องศาลจังหวัดนครพนม ตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยศาลฯตัดสินจำคุก 1 เดือน แต่ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 15 วัน อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน เปลี่ยนโทษจากจำคุก 15 วัน เป็นกักขัง 15 วัน ก่อนควบคุมตัวนำส่งไปกักขังที่เรือนจำกลางนครพนม ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ล่าสุด วันที่ 9 เมษายน 2563 ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม สรุปผลการปฏิบัติงานช่วงเคอร์ฟิว ประจำวันที่ 8 เมษายน เวลา 22.00 น. ถึงวันที่ 9 เมษายน เวลา 04.00 น. จับกุมผู้ฝ่าฝืน ไม่มีเหตุผลในการเดินทางช่วงประกาศห้าม จำนวน 5 คัน 14 คน ประกอบด้วย สภ.เมืองนครพนม 1 คัน 1 คน​ , สภ.บ้านแพง 1 คัน 1 คน​ , สภ.นาแก 2 คัน 11 คน และ สภ.โพนสวรรค์ 1 คัน 1 คน รวมยอดสะสมการดำเนินการผู้ฝ่าฝืนฯ ตั้งแต่วันที่ 5-9 เมษายน 2563 จำนวน 41 คัน 69 คน ว่ากล่าวตักเตือน 1 คน ดำเนินคดี 68 คน

นอกจากนี้ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฯ​ (ศปก.ฯ) ติดตามสถานการณ์โควิด-19 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กล่าวกับผู้แทนกระทรวงแรงงาน ว่า อาจจะมีนายจ้างบางรายอาศัยช่วงรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน มาเป็นข้ออ้างในการลดเงินเดือนลูกน้อง ซึ่งในทางกฎหมายแรงงาน ถ้านายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่ จึงไม่สามารถลดเงินเดือนพนักงานได้ หากพบสถานประกอบการใดไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานกำหนด จะต้องถูกดำเนินคดีทันที โดยมอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิด อย่าให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานโดยเด็ดขาด

โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจาก มีเหตุสุดวิสัย ให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากโรคติดต่อ อันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้ ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย โดยให้ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน เดิมอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน “แก้ไขปรับเพิ่มเป็น อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน”

กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง​ มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 60 วัน “แก้ไขปรับเพิ่มเป็น อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน”

สำหรับมาตรการดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและทบทวนให้เพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในครั้งนี้นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่มีนโยบายที่จะเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เท่าเทียมกันมากที่สุด

ในกรณีมีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านตามนโยบายของรัฐบาลในภาวะการแพร่ระบาดของโรควิด 19 จะต้องจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม เช่น จ่ายเดือนละ 10,000 บาท หรือวันละ 400 บาท ก็ต้องจ่ายเท่าเดิม

ส่วนเงินสวัสดิการ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง เบี้ยขยัน ถ้ามิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น หรือมิได้มีเงื่อนไขว่าจะต้องไปทำงาน ณ สำนักงานจึงจะจ่าย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องจ่ายเช่นเดิม อย่างไรก็ตามในภาวะโรคระบาดสถานที่ทำงานเปลี่ยนไป นายจ้างลูกจ้างอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน