นครพนม – คลายน๊อตตัวเล็ก ขันน๊อตตัวใหญ่ เน้นปลอดโควิด งัด พ.ร.บ.โรคติดต่อ ออกจากบ้านไม่สวมแมสก์ เจอปรับไม่เกิน 2 หมื่น สิงห์สุราเจอขยายห้ามขายต่อ 15 วัน
วันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม (สสจ.ฯ) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อฯ มีนายแพทย์จิณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ยุทธชัย ตริสกุล ผอ.รพ.นครพนม พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.ฯ นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ฯลฯ เพื่อหารือผ่อนคลายล็อกการเข้า-ออก จังหวัดนครพนม
ในเบื้องต้น ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า เมื่อวาน (28 เม.ย.63) มีมติคณะรัฐมนตรีมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมการเดินทางเข้าออกในราชอาณาจักร เคหสถานตั้งแต่ 22.00 – 04.00 น. การงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ระหว่างจังหวัดสู่จังหวัด การงดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มาก ที่มีโอกาสความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ประกอบกับจังหวัดนครพนมได้ดำเนินกิจกรรมหลาย ๆ มาตรการในการดูแลพื้นที่ การปิดสถานที่ที่เกิดความเสี่ยง เช่น สถานบริการ โรงภาพยนตร์ หรืองดกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่มีการรวมคน หรือประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนการห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยไม่ได้รับอนุญาต และปิดกั้นไม่ให้มีการใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ยกเว้นกรณีขนส่งสินค้าที่มีความจำเป็น จนถึงมาตรการที่เข้มงวดขึ้น
โดยวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา จังหวัดนครพนมได้ล็อกดาวน์ มีการปิดกั้นการเข้าออกในพื้นที่ ผู้ประสงค์จะเดินทางเข้าหรือออกทุกราย จะต้องได้รับอนุญาตจาก นายอำเภอ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาประมาณ 2-3 เดือน ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดนครพนมขยับมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และจากแถลงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ของ สสจ.นครพนม ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยอดผู้ติดเชื้อเป็นเลขศูนย์ และการแพร่ระบาดไม่มี จะมีแต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาจากต่างถิ่น นำเชื้อติดตัวเข้ามา ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนักมาตลอด ได้มีการตั้งด่านตรวจคัดกรองตลอด 24 ชั่วโมง 24 แห่ง ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดนครพนม ดีขึ้นเป็นลำดับ ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : นรข. ติดตามขยายผลผู้ต้องหายาเสพติดพื้นที่อำเภอท่าอุเทน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด
- นครพนมก้าวสู่ยุคดิจิทัลสุขภาพ! อบจ.นครพนม ผุดโครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ พร้อมจัดตั้งศูนย์บริการแพทย์ทางไกล
- สสจ.นครพนม’ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย ‘คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ เตรียมตั้งศูนย์ฯ ใน รพ. พร้อมยกนระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ต่อสู้ NCDs
- คณะกรรมาธิการการพลังงาน ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบฝุ่นควันชายแดน นครพนม บึงกาฬ
ผวจ.นครพนม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามกิจกรรมทั้งหลายยังคงต้องทำต่อไป ประชาชนต้องประกอบอาชีพ มีการเดินทางฯลฯ และจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรคติดต่อฯมาเป็นอันดับที่ 1 และควบคู่ดูแลไปกับเศรษฐกิจ ในระยะเปลี่ยนผ่านยังคงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดกับมาตรการในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งยังคงกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน พอสมควร
ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป มาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้จะครบกำหนด วันนี้จึงมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อที่จะพิจารณาทบทวนข้อบังคับ โดยมีการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันจากภายนอก เพิ่มภูมิคุ้มกันภายใน การลดภาวะแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ทั้งเข้าใจแลไม่เข้าใจ ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของชาวจังหวัดนครพนม ที่ผ่านมาเริ่มให้มีการขายของบ้าง เป็นตลาดขายอาหาร บางที่ทำแล้วดีก็ทำต่อไป บางที่มีความปลอดภัยน้อยจึงให้งด
สำหรับมาตรการภายในจังหวัดนครพนม นายสยามฯผวจ.นครพนม กล่าวว่า ในหลักยังคงมาตรการในการปิดสถานที่ต่าง ๆ ต่อไปอีก 15 วัน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อที่จะดูความชัดเจนในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนโยบายของรัฐบาล หรือ สบค. ส่วนของการเดินทางเข้าจังหวัดทั้งทางอากาศและทางบก หลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ ไม่มีการขออนุญาต แต่ต้องหยุดลงให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่าไปที่ไหน ก่อนที่จะมานครพนมภายใน 14 วัน ท่านไปไหนมาบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หลังให้ข้อมูลและ ทางจังหวัดจะประมวลข้อมูลส่งไปยังอำเภอนั้นๆ และอำเภอจะส่งข้อมูลต่อให้กับพื้นที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เฝ้าติดตามต่อไป
ด้านการปฏิบัติกับคนต่างด้าวยังคงห้ามเข้ามาในพื้นที่ ส่วนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) ข้ามไปมาได้เฉพาะการขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ยังไม่มีการเข้าออกตามปกติ
แต่ที่เพิ่มเติมคือ มติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม สรุปว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป ให้ทุกคนที่จะออกนอกเคหสถาน ต้องสวมหน้ากากอนามัย ถ้าไม่สวมถือว่ามีความผิดทั้งหมด มีโทษตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ คำสั่งเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยขอให้ผู้ที่จะออกนอกเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตนให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง และห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป กรณีที่ประชาชนผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ต้องระวางโทษตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ด้าน นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 13 มีมติในการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ได้แก่ สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถาบันกวดวิชา คาราโอเกะ สนามกีฬาที่มีการสัมผัสร่างกาย เช่น มวย ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล สนามชนไก่ สนามซ้อมไก่ชน สถานประกอบการมหรสพ ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานประกอบการบริการออกกำลังกาย สถานประกอบการ นวดแผนโบราณ ยกเว้นการบริการในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ร้านเกมส์ ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สถานบริการอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ร้านค้าปลีกในห้างสรรพสินค้า (ยกเว้น ศูนย์บริการโทรศัพท์ ร้านขายยา ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหารจำหน่ายเฉพาะการนำกลับไปบริโภค) ขยายการควบคุมต่อถึงวันที่ 15 พ.ค. นี้
มาตรการผ่อนปรน ได้แก่ ตลาดสดในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เทศบาลตำบล และ อบต.ฯ ให้เปิดเวลา 05.00 น. ปิด 18.00 น. ตลาดโต้รุ่งเขตเทศบาลเมืองนครพนม เปิด 16.00 น. ปิด 20.00 น.
ในส่วนของร้านค้าหรือสถานประกอบการแอลกอฮอล์ให้งดจำหน่าย ตั้งวันที่ 1-15 พ.ค. หรือขยายการควบคุมต่อ 15 วัน สำหรับมาตรการคัดกรองบุคคล ในสนามบินจะมีการคัดกรองผู้โดยสารตั้งแต่อาคารสนามบินในชั้นขาออก มีการวัดไข้ และอนุญาตเฉพาะผู้โดยสารและสัมภาระเข้าไปในอาคาร ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้โดยสารขาเข้า มีการแจกแบบฟอร์มว่า อยู่ที่ไหนในจังหวัดนครพนม เช่นพักอยู่บ้านของใคร โรงแรมอะไร และอยู่กี่วัน มีความเสี่ยงจากการรับเชื้อโควิด -19 มาหรือไม่ ท่านเดินทางมาจากจังหวัดใดบ้าง
การคัดกรองโดยเครื่องเทอร์โมสแกนวัดไข้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม PUI (ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค) จะนำไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้ามาจากพื้นที่เสี่ยง Home Quarantine คือการให้ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงกักกันที่บ้าน แต่ถ้าเป็นกลุ่ม Local Quarantine คือการกักกันโรคในท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะต้องผ่อนหนักผ่อนเบา ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดนั้นๆ ที่ประชาชนเดินทางไปหรือมา
เบื้องต้นพื้นที่เสี่ยง ต้อง Home Quarantine (การให้ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงกักกันที่บ้าน) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ชุมพร ภูเก็ต ยะลา สงขลา ปัตตานี กระบี่ นราธิวาส รวม 20 จังหวัด เมื่อเข้ามาในจังหวัดนครพนม จะต้องเก็บกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: