นครพนม – ร้องสื่อ !! ที่ดินราชพัสดุริมแม่น้ำโขง ”เกาะดอนแพง” นครพนม เจอชื่อซ้อใหญ่ร้อยล้านแกล้งจน ครอบครองมากถึง 62 แปลง
ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายอังกูร ถิ่นพนม อายุ 56 ปี ชาว ต.บ้านแพง ว่า บริเวณหาดดอนแพง ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งเกิดจากการตะกอนดินในแม่น้ำโขงไหลทับถมจนเกิดเป็นหาดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่เกือบ 5 พันไร่ ครอบคลุมพื้นที่บ้านหัวหาด หมู่ 12 จรดบ้านท่าลาด หมู่ 9 ต.บ้านแพง ระยะทางยาวประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นชัยภูมิเหมาะแก่การทำเกษตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยมีเทศบาลตำบลบ้านแพงดูแลและจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ และทางราชการสงวนไว้สำหรับเกษตรกรผู้ยากไร้ ประกอบอาชีพทางเกษตร จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า อาจจะมีผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรมาสวมสิทธิ์เพื่อนำที่ดินราชพัสดุแห่งนี้ไปหาประโยชน์ใส่ตน
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- ตำรวจนครพนมทลายขบวนการค้ายาเสพติด ยึดยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 46 กก. ผู้ต้องหา 4 ราย รับจ้างข้ามชาติ
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบตามคำร้องเรียน พบว่าบริเวณที่ราชพัสดุดังกล่าวเรียกเป็นภาษาทางการว่าเกาะดอนแพง มีเกษตรกรปลูกพืชหลายชนิด เช่น ปลูกใบยาสูบ มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ฟักทอง ฯลฯ ทราบจากเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านี้ว่า เงื่อนไขในการครอบครองนั้นรัฐจัดสรรเพื่อเกษตรกรโดยเฉพาะ หลักเกณฑ์ต้องไปลงทะเบียนชำระค่าเช่า ภายในวันที่ 1-31 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อระบุว่าปีนี้จะปลูกพืชจำพวกไหน พร้อมเสียค่าบำรุงท้องที่ ประมาณไร่ละ 20 บาท
จากแหล่งข่าวเปิดเผยว่าราวปี 2559 มีเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านแพง ออกสำรวจเกาะหาดดอนแพง เพื่อตรวจสอบข้อมูลการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐบนเนื้อที่ 4 พันกว่าไร่แห่งนี้ โดยแบ่งเป็นแปลงใหญ่ ๆ รวม 18 แปลง มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 2,107 ราย
ปรากฏว่าในจำนวนเกษตรกรผู้ยากไร้นั้น มีชื่อคหบดีหญิงรายหนึ่ง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแพง พร้อมลูกชายอีก 2 คน สวมบทบาทเป็นเกษตรกรยากจน เข้าไปครอบครองที่ราชพัสดุบริเวณดังกล่าวมากถึง 62 แปลง จึงมีเกษตรกรตัวจริงเคลือบแคลงว่า คนรวยมีเงินเป็นร้อยล้าน โผล่มาเป็นคนทุกข์ยากได้อย่างไร และฝากถามถึงเจ้าหน้าที่ผู้ออกสำรวจว่า ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตรวจสอบ
แหล่งข่าวเผยต่อว่าที่ดินราชพัสดุที่เศรษฐีนี รายนี้มีชื่อครอบครองพร้อมกับลูกชายนั้น มีเกษตรกรตัวจริงใช้ประโยชน์ทำกินอยู่แต่เดิมแล้ว แต่ถูกยึดไปเป็นของตัวเอง ซึ่งน่าจะเกิดจากมีการที่เกษตรกรไปเซ็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงหยิบยืมเงิน จากซ้อใหญ่มาล่วงหน้าก่อน ภายหลังพืชผลขายไม่ได้กำไรจึงไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ย จึงถูกข่มขู่ให้ยกที่ดินการเกษตรแห่งนี้ให้ เพื่อเป็นการชำระหนี้แทน
จากนั้นซ้อใหญ่ก็นำไปให้เกษตรกรรายอื่นเช่าในราคาแปลงละ 5-7 พันบาท/ปี นับถึงปัจจุบันก็เกือบ 30 ปี ที่ซ้อใหญ่เอาที่ดินของหลวงไปให้เกษตรกรเช่านำเงินเข้ากระเป๋า โดยไม่ต้องลงทุนอะไรทั้งสิ้น ซึ่งประเด็นนี้จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีคนของรัฐรู้เห็นเป็นใจ ยัดชื่อครอบครัวซ้อใหญ่แปลงร่างเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ มีที่ดินราชพัสดุเพื่อการเกษตรบนเกาะดอนแพงมากถึง 62 แปลง ซึ่งมากกว่าเกษตรกรที่จนจริงๆ หลายสิบเท่าตัว
นายสมศักดิ์ อ้วนแก้ว อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 308 หมู่ 11 ต.บ้านแพง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ดินราชพัสดุเป็นการจับจองของเกษตรกรที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ จะมีเพียงเอกสารประกอบการเช่าเท่านั้น โดยครอบครัวตนก็เป็นรายหนึ่งที่ถูกซ้อใหญ่ยึดที่ดินไปครอบครอง จากนั้นก็นำไปให้เกษตรกรเช่าในราคาแปลงละ 7,000 บาท/ปี
ด้าน นายจำรัส เจริญวงศ์ อายุ 62 ปี ได้กล่าวว่าตนยึดอาชีพเกษตรกรทำกิน บนที่ราชพัสดุที่เป็นมรดกตกทอดต่อจากพ่อ โดยวัตถุประสงค์ของทางราชการคือต้องการให้เกษตรกรผู้ยากไร้ มีที่ดินทำการเกษตรโดยเสียค่าเช่าเป็นปีในราคาถูก โดยจะเสียค่าเช่ารวมกับภาษีการบำรุงท้องที่ประมาณปีละ 20 กว่าบาท
นายจำรัสกล่าวต่อว่าการจับจองเป็นผู้ครอบครองที่ราชพัสดุเพื่อการเกษตร ทางการจะให้เกษตรกรไปลงชื่อว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็ใช้วิธีจับสลาก ใครได้หมายเลขอะไรก็ได้ที่ดินแปลงเลขที่ดังกล่าวนั้นไปทำกิน ส่วนการส่งต่อเปลี่ยนมือ จะเป็นจากรุ่นสู่รุ่นกับทายาทผู้สืบสันดานเท่านั้น จะเอาไปขายหรือจำนำไม่ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ
ด้าน นายสุกิจ โพชะโน อายุ 63 ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตเกษตรอำเภอนาทม จ.นครพนม เปิดเผยว่าสมัยยังเป็นสุขาภิบาลฯ เคยเป็นเกษตรตำบลบ้านแพง 4 เดือน พอจำได้ว่าที่ราชพัสดุริมแม่น้ำโขงเกิดจากตะกอนดินที่ไหลมาทับถมกัน มีประมาณ 4 พันกว่าไร่ เป้าหมายคือให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน โดยจ่ายเป็นค่าบำรุงท้องที่ ผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรจะเข้ามายึดครองไม่ได้ และนำไปให้ผู้อื่นเช่าก็ไม่ได้เช่นกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: