X

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่นครพนม มอบถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ ถวายเป็นพระราชกุศลฯ

นครพนม – อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่นครพนม  มอบถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ ถวายเป็นพระราชกุศลฯ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนม ว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพจำนวน 200 ชุด ตามโครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ให้กับชาวชุมชนตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า ณ ศาลาการเปรียญฉลองพุทธชยันตี 2600  ปี วัดธาตุประสิทธิ์ โดยมี พระราชสิริวัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้การต้อนรับ

นายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอนาหว้า  กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธาน สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ”เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” เพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน และได้พิจารณาเลือกจังหวัดนครพนม ในการมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้

นายอำเภอนาหว้ากล่าวต่อว่า ในพื้นที่อำเภอนาหว้า มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19(PUI) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-23 มิถุนายน 2563 มีจำนวน 39 ราย และยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มีผู้เดินทางเข้าหมู่บ้าน ชุมชน รวม 2,667 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ ซึ่งจากการสำรวจความเดือดร้อนของกรมการปกครอง พบว่ามีครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือลำดับที่ 1 และที่ 2 เป็นถุงยังชีพจำนวน 1,106 ราย จากจำนวน 2,597 ราย

ดังนั้น การได้รับถุงยังชีพความโครงการฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนชาวอำเภอนาหว้า ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทำให้ครอบครัวมีกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมที่ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่(New Normal) ได้ต่อไปในอนาคต

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์  นำคณะเข้ากราบสักการะองค์พระธาตุประสิทธิ์ และชมภาพพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ ทอดพระเนตรพระกฐินต้นฯ ชมจิตรกรรมฝาพนังพระอุโบสถ วัดธาตุประสิทธิ์  พร้อมเยี่ยมชมผลงาน และพบปะกลุ่มทอผ้าไหม ณ อาคารศูนย์หัตถกรรม ชมผลผลิตโครงการส่งเสริมอาชีพสตรีด้านการนวดแผนไทย ผลงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 5  ชนเผ่า ของอำเภอนาหว้า และนิทรรศการ “ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม” 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอโพนสวรรค์ ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง และอำเภอนาทม

จังหวัดนครพนมถือว่าเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดำเนินการอย่างเป็นทางการ โครงการแรกได้แก่ โครงการทอผ้าไหมมัดหมี่  เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยในซิ่นไหมมัดหมี่ที่หญิงชาวบ้านนุ่ง เพราะมีความสวยงามแปลกตา

ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริว่า การพระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ควรหาทางให้ราษฎรสามารถเลี้ยงตนเองได้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นว่าการทอผ้าไหมมัดหมี่ขาย เหมาะที่จะเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน เนื่องจากทุกครัวเรือนจะทอใช้กันอยู่แล้ว โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่น แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่ประการใด ทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มประกอบอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าไหมมัดหมี่ และทรงมีพระราชกระแสกับชาวบ้านว่า พระองค์จะทรงใช้ผ้าที่พวกเขาทอ ซึ่งนับว่าได้พระราชทานกำลังใจให้แก่พวกเขาเป็นอย่างมาก และทรงรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอทุกผืน โดยมีผู้รวบรวมไปส่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ต่อมาในปี พ.ศ.2515 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ และนางสนองพระโอษฐ์ ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมถึงบ้านของชาวบ้าน เริ่มจากจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก โดยรับซื้อผ้าไหมทุกระดับฝีมือ และให้ราคาที่ชาวบ้านพอใจ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราชเลขานุการในพระองค์ รวบรวมผ้าไหมให้มากที่สุด เพื่อเก็บไว้เป็นตัวอย่าง และให้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทอด้วย และทรงรับซื้อผ้าทอมือประเภทอื่นๆ ด้วย

เมื่อราชเลขานุการในพระองค์ และคณะออกไปปฏิบัติงานที่หมู่บ้านใด จะจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น และรับชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ทอผ้าไม่เป็นก็ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอที่ไม่มีเส้นไหมโครงการทอผ้าไหมนี้ได้ขยายออกไปจนทั่วภาคอีสาน และเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน