X

3 ททท.ภาคอีสาน “นครพนม ขอนแก่น สุรินทร์” ผนึกกำลังฟื้นฟูการท่องเที่ยว new normal

3 ททท.ภาคอีสาน “นครพนม ขอนแก่น สุรินทร์” ผนึกกำลังฟื้นฟูการท่องเที่ยว new normal ร่วมเปิดงานทุเรียนภูเขาไฟ ของดีศรีสะเกษ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากกรณี นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภิมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เตรียมความพร้อมในการเดินทางท่องเที่ยวอีสานวิถีใหม่รูปแบบ new normal จึงจัดกิจกรรมมินิคาราวานซ่อมสร้างการท่องเที่ยวไทยในอีสาน ครั้งที่ 2 เส้นทางจังหวัดขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ ภายใต้ชื่อไดโนเสาร์ (เป่าโหวด) คิดถึงทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งมีผู้อำนวยการ ททท.ฯ ขานรับนโยบายดังกล่าว ร่วมกันฟื้นฟูเยียวยาการท่องเที่ยวอีสาน หลังวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย นายเฉลิมชัย รุจิวรารัตน์ ผอ.ททท.สำนักงานนครพนม น.ส.ศิริวรรณ สีหาราช ผอ.ททท.สำนักงานขอนแก่น และ น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ ด้วยการจับมือการจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน(สอทอ.) ที่มีสมาชิกบริษัทนำเที่ยวร่วมก่อตั้ง จำนวน 18 ราย ให้บริการทั่ว 20 จังหวัดภาคอีสาน และ 1 รีสอร์ตคุณภาพ โดยมี น.ส.วสุมน เนตรกิจเจริญ ว่าที่นายกสมาคมฯเป็นหัวหอก (สมาคมฯอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติจากจังหวัดนครพนมสถานที่ตั้งสำนักงานแจ้งจดทะเบียน)

ซึ่งคณะมินิคาราวานได้เดินทางไปร่วม พิธีเปิดเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษปี 2563โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งนายวัฒนาพุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียนและเงาะ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศ โดยทางจังหวัดฯมีนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรฯ ให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน มุ่งสู่การเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสามารถลดต้นทุนภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและตลาด เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของจังหวัด ถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์คุณค่า และที่สำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว การบริการ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ภาคประชาชน ตลอดจนได้กำหนดให้เป็นเทศกาลประจำปีของจังหวัดอีกด้วย ภายในงานได้กำหนดให้มีการแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรและนวัตกรรม การนำสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และของดีศรีสะเกษมาจัดจำหน่าย โดยเกษตรกรผู้ผลิตของจังหวัด

ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อว่าในส่วนของการผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอย่างมาก ได้แก่ ทุเรียนและเงาะ ตลอดจนพืชชนิดอื่นๆ อาทิเช่น มังคุด ลองกอง สละฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็น product champion ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และสร้างรายได้ให้จังหวัดมากกว่าปีละ 700 ล้านบาท ถือว่าเป็นความสำคัญที่จะต้องพัฒนาในเรื่องคุณภาพ และการสร้างตราสินค้าเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดมูลค่าเพิ่มการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญจึงได้จัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ 2563 ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึง 5 กรกฎาคม 2563 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเพื่อการส่งออกที่สำคัญ เพื่อการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด และเป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุนด้วยดีในทุกๆปี

ซึ่งก่อนที่จะเริ่มงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้นำ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟฯ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ดูแล อย่าให้ปลูกทุเรียนมากเกินไป เพื่อป้องกันการแข่งขันกันเอง และขอให้หาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆนำเสนอเข้าสู่ตลาด ที่สำคัญต้องจำกัดโซนนิ่งให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา เพราะเป็นเรื่องความต้องการของตลาด

สำหรับพื้นที่การปลูกทุเรียนภูเขาไฟ มีอยู่ใน 3 อำเภอได้แก่ กันทรลักษณ์-ขุนหาญ-และศรีรัตนะ จำนวน 8,522 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 3,095 ไร่ เฉลี่ย 1.3 ตัน/ไร่ รวมราว 4 พันตัน/ปี เป็นดินภูเขาไฟที่ดับสนิทในเทือกเขาพนมดงรักติดชายแดนประเทศกัมพูชา

จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้คนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ลาว เขมร ส่วย เยอ ไทย จีน แขก โดยเฉพาะชาวกูย หรือเขมร ซึ่งปัจจุบันพบชาวกูยได้ในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่ชาวกูยในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูง และชาวลาว ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรสูงและลาว
ชาวกูยถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูยเคยเป็นรัฐอิสระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา และเคยช่วยกษัตริย์์เขมรปราบขบถ ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหารปราบชาวกูย และผนวกอาณาจักรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขมร ชาวกูยจึงได้พากันอพยพ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก โดยชาวกูยอพยพขึ้นเหนือเข้าสู่เมืองอัตตะบือ แสนปาง จำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาว ส่วนหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสาน ทางด้านแก่งสะพือ อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ

หลังจากนั้นลูกหลานชาวกูยได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน ตามประวัติชาวกูยอพยพเข้าประเทศไทยครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ.2245-2326) ซึ่งชาวกูยที่อพยพมา จะมีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยจึงเรียกชาวกูยว่า เขมรป่าดง ส่วนสาเหตุที่มีการเรียกชาวกูยว่าส่วยนั้น เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวกูยได้ตกเป็นไพร่แผ่นดินสยามอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บรรดาชายหนุ่มต้องหลบหนีเข้าป่า หรือไม่ก็แอบซุ่มโจมตีขุนนางที่มาจากเมืองหลวงหลายต่อหลายครั้ง เพราะไม่อยากถูกเกณฑ์แรงงานและส่งส่วยอีก ซึ่งนี่ป็นปัญหาใหญ่ของส่วนกลางมาก จนในสมัยรัชกาลที่ 2 ชาวกูยจำนวนมากถูกคุมตัวมาไว้กรุงเทพฯ อนุญาตให้สร้างบ้านเรือนอยู่ที่บางบอน ฝั่งธนบุรี

ด้านการส่งส่วยของชุมชนชาวกูย มีหลักฐานว่าปี พ.ศ.2402 เมืองรัตนบุรี ส่งควาย 163 ตัว เมืองสุรินทร์ ส่งควาย 61 ตัว และกองพระยาภักดีชุมพล อีก 32 ตัว การจัดเก็บส่วยได้ทวีเพิ่มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนชาวกูยไม่มีสิ่งของจะส่ง พอถึงปลายรัชกาลที่ 4 ก็เกิดวิกฤตการส่งส่วยหนัก ถึงขั้นได้ส่งคนกูยมาเป็นส่วยแทน จึงมีการเรียกว่า “ส่วย” แต่อย่างไรก็ตามชาวกูยเรียกตัวเองว่ากุย กูย โกย หรือกวย ซึ่งแปลว่า “คน” ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และสุพรรณบุรี

ชาวกูยมีการนับถือผีและศาสนาพุทธผสมกัน ภายในชุมชนมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ชาวกูยยังนับถือวิญญาณ ได้แก่ ภูตผีปีศาจ เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา เป็นต้น และยังเชื่อเรื่องผีปอบ เรื่องขวัญในหมู่บ้าน จึงมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้ ชาวกูยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผี จึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ โดยมีการรำผีมอ ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครู

นอกจากนี้ชาวกูยนิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า “โพนช้าง” เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้บ่วง มาศที่เรียกว่า “เชือกปะกำ” ทำจากหนังควายถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้าช้างแล้วผูกกับต้นไม้ และนำมาฝึกใช้งาน ในการคล้องช้างกระทำปีละครั้ง ราวเดือน 11-12 ช้างที่ตายลงจะมีการฝังอย่างดีและจะขุดกระดูกขึ้นมา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และในชาวกูยจับช้าง(กูยตำเหร็ย) มีระบบระเบียบพิธีกรรมก่อนออกไปจับช้างอย่างเคร่งครัดโดยมีการตกลงมอบหมายอำนาจให้แต่ละคนกระทำเหนือกลุ่มหรือคณะ ดังต่อไปนี้

”มะหรือจา” มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญ เป็นผู้ถือท้ายหรือผู้ที่ช้างต่อ “หมอสะเดียง” เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์ในการจับช้างป่า จะขี่ช้างอยู่ตรงคอ “หมอสะดำ” ทำหน้าที่ควาญ เรียกว่า ควาญเบื้องขวา มีฐานะสูงกว่าสะเดียง สะดำต้องมีประสบการณ์เคยออกจับช้างป่า มาแล้วอย่างน้อย 11 เชือกขึ้นไป บางทีเรียกว่าหมอใหญ่ “ครูบา” เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้าในกลุ่มย่อยหรือหมู่ช้างต่อ จะออกจับช้างป่าได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่ บางครั้งครูบาออกจับช้างได้ตามลำพัง “ครูบาใหญ่” เป็นหมอช้างใหญ่ หรือประกำหลวง หรือ หมอเฒ่า เป็นผู้อำนายการออกจับช้างแต่ละครั้ง เป็นประธานในพิธีเซ่นผีประกำ และประกอบพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวง ในขณะเดินป่าก็จะเป็นผู้ชี้ขาด และตัดสินใจ ขณะกระทำการจับช้างป่ามีกฤตาคมสูง สามารถป้องกันภัยทั้งจากภูตผี และสัตว์ป่าด้วยเวทมนต์ ในการออกจับช้างป่าแต่ละครั้ง ครูบาใหญ่จะต้องแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน