ปลายเดือนกันยายน ฟ้าฝนทางภาคอีสานลดความโกรธเคืองลงไปเยอะ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนมอ่วมกว่าเพื่อน ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติทั้ง 12 อำเภอ บ้านเรือนร่วมพันหลังคาเรือนลอยเท้งเต้งกลางสายน้ำ จึงต้องครวญเพลงพี่กาเหว่า เสียงทอง ท่อนแรกว่า”บ้านพี่เป็นเรือนแพฯ” เป็นการคลายเครียดรอน้ำลดไปพลางก่อน
เว้ากันแบบซื่อๆภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้องน้ำมาเยี่ยมนานแรมเดือน ก็มีเสน่ห์ในเชิงการท่องเที่ยวไม่แพ้ภาคอื่นเหมือนกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เจ้าพ่อแห่งการท่องเที่ยวรู้จักดี ว่าภาคอีสานต้นกำเนิดส้มตำปลาร้ารสแซ่บ มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางน้ำและทางบก อวดโฉมความงามท้าทายนักท่องเที่ยวทุกเวอร์ชั่น ให้ได้ลองไปสัมผัสสักครั้งแล้วจะลืมไม่ลง และ ททท.ก็เก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านี้ตุนเป็นเสบียงหลายกระบุงเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะถึงนัดตัดเชือกมอบหมายให้ นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางตารางโปรแกรมจัดคาราวานสื่อมวลชน ควงแขนไปกับผู้ประกอบการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวจาก กทม. และภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เพื่อส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวให้เกิดความคึกคัก กระจายรายได้สู่ชุมชน จนมาสรุปลงตัวในช่วงปลายเดือนกันยายน หลังนักข่าวในพื้นที่น้ำท่วม หายใจโล่งจมูกจากการตรากตรำทำข่าวถึง 2 เดือน โดยมีกำหนัดทัวร์นกขมิ้นค่ำไหนนอนนั่น ระหว่างวันที่ 26 กันยายน -3 ตุลาคม 2561 รวม 7 คืน 8 วัน ซึ่งสื่อมวลชนและผู้ประกอบการฯแต่ละจังหวัด จะต้องเดินทางด้วยรถยนต์ ไปรวมตัวกันที่เซ็นเตอร์หลักจังหวัดนครราชสีมา
ผู้เขียนและเพื่อนๆใน”สมาคมนักข่าวจังหวัดนครพนม” ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนแห่งเดียวของจังหวัด ที่มีนักข่าวหลักทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ครบทุกแขนง ได้รับจดหมายน้อยจาก คุณสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผอ.ททท.นครพนม เชิญร่วมทัวร์นกขมิ้นครั้งนี้ ล้อหมุนตั้งแต่เวลาพระออกบิณฑบาต 06.00 น. ของวันที่ 26 กันยายน เรียกเส้นทางนี้ว่า Entertament & Shopping พลขับไม่เร่งไม่รีบยึดความปลอดภัยเป็นหลัก จอดแวะกินข้าว เข้าห้องน้ำ พักล้อเติมน้ำมันไปแบบชิวๆ ถึงโคราชบ้านเอ็งในเวลาบ่าย 3 โมง เจอเพื่อนสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้ประกอบการครบทุกจังหวัดที่นี่ หลังลงทะเบียนรายงานตัวก็หอบกระเป๋าเข้าที่พัก หลับฝันดีที่เมืองย่าโมหนึ่งคืน
รุ่งเช้าเริ่มภารกิจสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว 20 จังหวัดภาคอีสาน ให้ชื่อตามท้องเรื่องว่า ถนน Romantic (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย) โดยมีลายแทงเป็นกระดาษ A 4 จำนวน 4 แผ่น เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา และ ฮีต 12 คลอง 14 นำประเพณี วัฒนธรรม อาหารพื้นบ้านแต่ละแห่ง ที่เป็นอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของคนอีสานในแต่ละเดือน นำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส จากนั้นคาราวานกองทัพเจ้าพ่อแห่งการท่องเที่ยว ประกอบด้วยรถตู้ ปิกอัพ รวมเบ็ดเสร็จ 25 คัน วิ่งตามกันเป็นขบวนรถไฟมุ่งหน้าสู่ วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด กราบหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูน ชมความงามวิหารเทพวิทยาคม เก็บความประทับใจใส่อุปกรณ์สื่อสาร ก็เดินทางต่อไปวัดพระธาตุหนองสามหมื่น อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ(ชื่อเดิมบ้านหลวง) พักกินข้าวเที่ยวฟาดไก่ย่างส้มตำอาหารหลักของคนอีสานแล้ว ก็นั่งรถไปสักการะศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดหนองบัวลำภู หรือชื่อเดิมยาวสักหน่อยว่านครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จากนั้นเข้าสู่เส้นทางแสนโรแมนติกสัมผัสกับบรรยากาศทะเลหมอกที่สวยงาม มีความสุขกับอากาศที่เย็นสบายในแถบจังหวัดเลย ทัวร์นกขมิ้นพักเอาแรงนอนนับดาวบนไหล่เขาเมืองเลย
เช้าวันใหม่เป็นถนนสาย Unseen(เลย-หนองคาย –บึงกาฬ-อุดรธานี) เลาะเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.ปากชม จ.เลย แวะจุดชมวิว”เบิ่งเลย แลลาว” ใส่เกียร์เดินหน้ากราบสักการะหลวงพ่อพระใส ศูนย์จิตใจของชาวหนองคาย เข้าชมหินวาฬพันปี วัดสว่างอารมณ์ (ถ้ำศรีธน) อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ แล้วไปเพลิศเพลินจิบน้ำชากับศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน เยี่ยมศาลปู่-ย่า จ.อุดรฯ นอนเซาเมื่อยที่บ้านเดื่อหมากแข้ง
อรุณรุ่งเป็นเส้นทาง Slow Life(อุดรฯ-สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร) เพื่อวกกลับมาเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกครั้ง ตามเส้นทาง 3 ธรรม คือ ธรรมะ ธรรมชาติ วัฒนธรรม กับกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร) ไหว้ขอพรจากพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร จากนั้นก็ไปกราบนมัสการองค์พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รถจอดกินข้าวเที่ยงชิมหมูหันแก่งกระเบา อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ก่อนจะเยี่ยมชมภูมโนรมณ์ ชมวิวแม่น้ำโขงฝั่งประเทศเพื่อบ้าน สปป.ลาว แขวงสะหวันเขต พร้อมเบิ่งความสวยงามของ”องค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” รูปปั้นพญานาคใหญ่ยักษ์ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดมุกดาหาร และลอดใต้ท้องพญานาคสะเดาะเคราะห์รับโชคตามคติความเชื่อของคนลุ่มแม่น้ำโขง ค่ำคืนนี้นอนที่เมืองมุก
วันต่อมาเป็นเส้นทาง Culture (มุกดาหาร-อำนาจเจริญ-ยโสธร-อุบล) นมัสการพระมิ่งมงคล และตามรอย ครม.สัญจร จ.อำนาจเจริญ หรือเดิมชื่อเมืองค้อ ส่วนที่ จ.ยโสธร มีธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่ให้คติเตือนใจในการคิดก่อนทำ ชมแหล่งท่องเที่ยวใหม่พญาคันคาก(คากคก) ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบั้งไฟ ด้วยการเล่าเรื่องด้วยภาพยนตร์ระบบ 3 มิติ ทำให้เกิดการบอกต่อแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เมื่อพวกเราถึงจังหวัดอุบลราชธานี ณ บ้านชีทวน ชมสะพานน้อยข้ามทุ่งนา ที่เชื่อมความศรัทธาระหว่างวัดกับหมู่บ้าน คืนนี้หลับฝันหาเลขเด็ดที่ดอนมดแดง หรือดงอู่ผึ้ง ชื่อเดิมของเมืองอุบล
วันที่ 1 ต.ค. เป็นเส้นทาง Adventure (อุบลฯ-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์) ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษในเวลานี้ ไม่มีใครบอกว่าไม่รู้จัก อย่างน้อยก็”เจ้าแหลม” ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น แชมป์โลกมวยสากล WBC สภามวยโลก รุ่นซุปเปอร์ฟลายเวต 115 ปอนด์ หรือ”ทุเรียนภูเขาไฟ”อร่อยหยอกซะที่ไหน แถมราคาก็ยังแพงกว่าทุเรียนแถบเมืองจันทน์และระยอง โปรแกรมแรกวันนี้ไปที่วัดสระกำแพงใหญ่ ชมศิลปะอารยะธรรมแบบขอม ถึงจังหวัดสุรินทร์ไม่ได้ให้กินสุรา ชมสุสานช้าง เล่าความเป็นมาของช้างที่เกี่ยวข้องคนไทยมาอย่างยาวนาน มุ่งสู่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองกีฬา เพื่อเป็นจุดกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้ออกกำลังกายและใช้กีฬาเป็นนันทนาการในการพักผ่อน รวมถึงการแข่งขันโมโตจีพีที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ระดับโลก คืนนี้เพิ่มน้ำหนักด้วยขาหมู อ.นางรอง แล้วหลับปุ๋ยที่โนนม่วง เมืองแปะ
เช้าหลังวันหวยออกเรียกว่าเส้นทาง Lifestyle (บุรีรัมย์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น) เราไปกราบบสักการะองค์พระธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสานมากว่าพันปี แล้วไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด (สาเกตนคร) ชมพระธาตุมงคลมหาบัว ที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อถวายรำลึกถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พร้อมตะล่อนหม่ำกับเส้นทางอาหารอีสานอร่อยรสแซ่บๆหลากหลายเมนู เมื่อถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ไปข้ามสะพานน้ำจืดที่สวยที่สุดในประเทศไทยที่เขื่อนลำปาว ซึ่งเขื่อนแห่งนี้เป็นที่เลี้ยงปลาและแหล่งปลาธรรมชาติ บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ชม”ราชินีแห่งไหม” ผ้าไหมแพรวา และเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ชมความงดงามของเจดีย์วัดทุ่งเศรษฐี หลับฝันดีที่เมืองขามแก่น
วันที่ 3 ต.ค. เป็นวันสิ้นสุดทริปทัวร์นกขมิ้น เราต่างจับมือร่ำลาเพื่อนสื่อมวลชนและผู้ประกอบการฯ บางคนได้พบเพื่อนใหม่ก็มีน้ำตาคลอๆให้เห็นพอให้คิดถึงกัน ก่อนจะแยกย้ายกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ พร้อมนำเรื่องราวทัวร์นกขมิ้น 20 จังหวัดภาคอีสานเสนอต่อสาธารณชนเป็นลำดับต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: