นครพนม – พัฒนาชุมชนนครพนม เปิดซุ้มผลิตภัณฑ์ 24 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เปิบพิสดารกับอสรพิษมีปีกห่อหมกตัวต่อ
วันที่ 10 ต.ค.61 เวลา 17.30 น. บริเวณพิพิธภัณฑ์หอสมุดเมืองนครพนม(ข้างเรือนจำเก่า) ถนนอภิบาลบัญชา เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นศูนย์โอทอปเทรดเดอร์ นายประสาท ทัศคร หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม เนรมิตรอบพื้นที่ดังกล่าวให้คล้ายเป็นท้องทุ่งขนาดย่อม สร้างบรรยากาศให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนแถบชนบท ด้วยการจัดมหกรรม 24 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยรวบรวมสินค้า OTOP เช่นเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากแต่ละชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตจากการที่พัฒนาชุมชนจังหวัดฯเข้าไปให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร เมื่อได้ผลผลิตตามที่ต้องการจึงนำมาแสดงและจำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม พร้อมด้วย นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ.ฯ พล.ต.ต.ธงชาติ รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม ให้เกียรติมาเยี่ยมชมบูธจาก 24 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกเทศบาลตำบลนาคำ แจงเหตุต้องระงับเพลิงล่าช้า จากกรณีเหตุเพลิงไหม้บ้านพักอาศัยของชาวบ้าน
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- ม.นครพนม จัดประชุมวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “บูรณาการ AI and Soft Power ในการบริหารภาครัฐ”
- ประชาชนแห่ เสกเหรียญหลวงปู่คำไหล ในพระมหาเจดีย์วัดดัง แห่ตีเลขน้ำตาเทียน หลังสาธุชนนับพันแห่ร่วมพิธี
นายประสาทฯ เปิดเผยว่าประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบนี้ เกิดจากแนวความคิดของกระทรวงมหาดไทย ไว้วางใจมอบหมายภารกิจให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากกระบวนการพัฒนาชุมชนมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือปฏิบัติงานตามหลัก ความพอประมาณ ความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ ความชอบธรรมและคุณธรรม ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองบนความพอเพียง โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกกรมและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครอง
กรมฯ จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาขยายผลในกระบวนการทำงาน โดยการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเกณฑ์ประเมิน 6 ด้าน คือ ลดรายจ่าย(ทำสวนครัว ปลอดอบายมุข) เพิ่มรายได้(มีอาชีพ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม) ประหยัด(มีการออม มีกลุ่มออมทรัพย์ฯ) การเรียนรู้(สืบทอดภูมิปัญญา มีการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(ใช้วัตถุดิบในชุมชนประกอบอาชีพ ปลูกต้นไม้) เอื้ออารีต่อกัน(ช่วยเหลือคนจน รู้รัก สามัคคี)
ต่อมากรมการพัฒนาชุมชน ได้ขยายผลการทำงานสู่ความยั่งยืน โดยทำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นต้นแบบ มีศักยภาพ 4 ด้าน 23 ตัวชี้วัด คือด้านจิตใจและสังคม(สามัคคี มีข้อตกลงข้อมูลหมู่บ้าน มีกองทุน ยึดหลักประชาธิปไตย มีคุณธรรม จริยธรรม ชุมชนปลอดอบายมุข,ด้านเศรษฐกิจ(จัดทำบัญชีครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ รวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ การออมมีกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน),ด้านการเรียนรู้(มีและใช้ข้อมูลชุมชน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างคุณค่า มีศูนย์เรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน สร้างเครือข่ายการพัฒนา,และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฯ มีกลุ่ม องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานทดแทนและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
โดยแบ่งศักยภาพการพัฒนาหมู่บ้าน เป็น 3 ระดับ คือระดับ “พออยู่” เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตพึ่งตนเอง เน้นการปฏิบัติทำกิน ทำใช้ในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีการออม,ระดับ “อยู่ดี กินดี” เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการพัฒนาในรูปกลุ่ม การพัฒนารายได้ด้วยระบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มรายได้และขยายโอกาสคนในชุมชน,และระดับ “มั่งมี ศรีสุข” เป็นต้นแบบการบริหารการพัฒนาในรูปแบบองค์กรเครือข่าย เพื่อใช้ศักยภาพในการดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เพื่อขยายโอกาสในการประกอดอาชีพและส่งเสริมการจัดสวัสดิการในกับคนในหมู่บ้านชุมชน
“พัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม จึงได้ดำเนินการโครงการยกระดับและขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน ให้มีระบบการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการที่เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคง เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติหมู่บ้าน ที่มีผลการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหมู่บ้านเป้าหมายเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน จำนวน 24 หมู่บ้าน ทั้ง 12 อำเภอ จำนวน 960 คน ได้รับการพัฒนาสามารถน้อมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต(Way Of Life) จึงได้จัดแสดงผลงานการขับเคลื่อนหมู่บ้านน่าอยู่ทั้ง 24 หมู่บ้าน ภายใต้ชื่อมหกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ในระหว่างวันที่ 9-13 ต.ค.นี้ มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากจาก 24 หมู่บ้าน และผู้ประกอบการสินค้า OTOP อีก 18 ราย” นายประสาทกล่าว
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกระบวนการจัดการพัฒนาประชาชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง และเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นการดำเนินงาน โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เน้นการพึ่งตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนา และการบริหารจัดการในภาคส่วนต่างๆได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศ และวิสัยทัศน์จังหวัดนครพนม “เมืองน่าอยู่ประตูเศรษฐกิจสู่อาเชี่ยนและจีนตอนใต้*ตะวันออก” เป็นเป้าประสงค์ของแผนพัฒนาจังหวัดฯปี 61-64 ซึ่งจะเป็นเมืองแห่งความสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงปลอดภัย เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“เมื่อประชาชนเกิดความผาสุก มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนและองค์กรเข้มแข็งและร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนอย่างยั่งยืน” ผวจ.นครพนม กล่าว
นอกจากนี้ยังได้ประกาศผลการคัดเลือกหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีผลพัฒนาดีเด่น ตามโครงการยกระดับและขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จำนวน 6 หมู่บ้าน รางวัลชนะเลิศได้แก่ บ้านโชคชัย หมู่ 8 ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ เนื่องจากหมู่บ้านนี้ปลูกสับปะรดมีรสชาติหวานที่สุดในประเทศไทย ปลูกพืชผักสวนครัวครบทุกครัวเรือน เด่นเรื่องการบริหารจัดการ มีจุดเรียนรู้ครบตามกิจกรรม 6×2 ทำบัญชีครัวเรือน รองชนะเลิศอันดับ 1 บ้านตาลกุด หมู่ 3 ต.โพนแพง อ.ธาตุพนม หมู่บ้านทำลวดหนาม,ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ และพรมเช็ดเท้า มีกลุ่มองค์กรหลากหลาย มีจุดเรียนรู้เด่นหลายด้านเช่นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมู่บ้านสะอาดน่ามอง เป็นระเบียบ รองฯอันดับ 2 บ้านโพนก่อ หมู่ 6 ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม หมู่บ้านอนุรักษ์ธรรมชาติ (ปลา ลิง) ขึ้นชื่อด้านการเลี้ยงจิ้งหรีดตัวโต เสื่อทอจากต้นกกและต้นผือแท้ ส่วนรางวัลชมเชยที่ 1 บ้านหนองบัวคำ หมู่ 8 ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก เป็นหนึ่งเดียวที่สานเข่งปลาทูส่งพ่อค้าทางภาคกลางและภาคใต้ ชมเชยอันดับ 2 บ้านกุดน้ำใส หมู่ 7 ต.นางัว อ.นาหว้า มีเกษตรกรเลี้ยงไส้เดือน และทอผ้าย้อมคราม ส่วนชมเชยที่ 3 บ้านนาบัว หมู่ 13 ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร เป็นหมู่บ้านแห่งประวัติศาสตร์การสู้รบ ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ จนได้ชื่อว่า”หมู่บ้านเสียงปืนแตก” โดดเด่นด้านการเลี้ยงจระเข้ และทอผ้าพื้นเมือง
ภายในงานยังมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น แตงโมไร้เมล็ด ปลาส้ม ปลาร้าตัวโตๆ แคบหมู มะพร้าวเผา ฯลฯ และมีผลผลิตทางการเกษตรใหม่คือมะละกอสายพันธุ์ผสม ระหว่างมะละกอฮอลล์แลนด์กับมะละกอไทย ที่เกษตรกรสามารถทดลองปลูกจนสำเร็จ มีรสชาติหวานกรอบเหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุหลักในส้มตำ ขณะที่บูธจาก อ.ปลาปาก ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากที่สุด เพราะมีเมนูเปิบพิสดารหนึ่งเดียวในโลก เป็นอสรพิษมีปีกคือ”ตัวต่อ” ถูกชาวบ้านนำมาปรุงเป็นอาหารรสเด็ดหลายอย่างเช่น ก้อยตัวต่อ ห่อหมกตัวต่อ เป็นต้น โดยเมนูพิสดารนี้หมดอย่างรวดเร็วเพราะนักเปิบของแปลกซื้อไปทานจนเกลี้ยง และมีศิลปินบิว เดอะสตาร์ มาขับกล่อมแก่ผู้มาเที่ยวชมงานอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: