นครพนม – สวยสุดซึ้ง สาวผู้ไทเรณู โชว์รำบวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช วันสุดท้าย งดงาม อ่อนช้อยท่วงท่ารำ ผสมผสานวิถีชีวิตเผ่าผู้ไท แสดงถึงความศรัทธา
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์คศักดิ์สิทธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม นายบำรุง ศรีลาชัย นายอำเภอเรณูนคร พร้อมด้วย นายศรีสุข แสนยอดคำ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น รวมถึง ชาวบ้านชนเผ่าผู้ไทย และนางรำสาวงามผู้ไทเรณูนคร กว่า 200 คน ร่วมพิธีถวายเครื่องสักการะบวงสรวง ในงานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช เป็นวันสุดท้าย ถือเป็นงานประเพณีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ จัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการบวงสรวงบูชาพญานาค ตามประเพณีความเชื่อ หลังมีการก่อสร้าง องค์พญาศรีสัตตนาคราช แล้วเสร็จ สมโภชขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จึงได้ จัดงานประเพณีขึ้นทุกปี ในช่วง วันที่ 7 เดือน 7 โดยปีนี้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 -13 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีการจัดนางรำสาวงามจาก 7 ชนเผ่า จากกทั้ง 12 อำเภอ ผ่า มาร่วมพิธี ทุกวัน
สำหรับวันสุดท้ายเป็นการประกอบพิธีรำบวงสรวงจากสาวงามชนเผ่าผู้ไทเรณูนคร อ.เรณูนคร ถือเป็นอำเภอท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีเอกลักษณ์ความโดดเด่น เรื่องของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น รำผู้ไท มีการแต่งกาย และมีภาษาท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สืบทอดกันมาแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และมีการส่งเสริมให้ลูกหลานเยาวชน ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้เป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อ เรื่องสาวงามเรณูผู้ไท เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่มีรูปร่างหน้าตา ผิว พรรณสวยงาม มาแต่อดีต จนได้ชื่อว่า สวยสุดซึ้งสาวผู้ไท โดยเฉพาะรำผู้ไท ถือเป็น ศิลปะการแสดงที่มีความโดดเด่น และมีความอ่อนช้อยสวยงาม รวมถึงจะมีท่วงท่าจังหวะรำที่สนุกสาน แตกต่างจากการรำทั่วไป เพราะจะมีการละเล่นลักษณะรำแบบหนุ่มสาวเกี้ยวกัน รวมถึงมีการนำท่าทางลีลา ของสัตว์ชนิดต่างๆ มาเป็นท่าการร่ายรำเกี้ยวสาว แสดงออกถึงความแข็งแกร่งของฝ่ายชาย ซึ่งเดิมจะใช้แสดงในงานพิธีสำคัญ รวมถึงงานบวงสรวง ตามประเพณีความเชื่อ ทำให้ปัจจุบันได้ นำมาสืบสานเป็นการแสดง ศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ด้าน นายศรีสุข แสนยอดคำ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับวันนี้ถือเป็นศิริมงคลแก่ชาวชนเผ่าผู้ไท ลูกหลานชาวผู้ไท เรณูนคร 1 ปี มีครั้ง จะได้ มาร่วมรำบวงสรวงถวายองค์พญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์คพญานาคศักดิ์สิทธิ์ ริมแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นประเพณีความเชื่อ ที่สืบทอดกันมาแต่อดีต โดยวันนี้ได้มีลูกหลาน นางรำชนเผ่าผู้ไท ได้มาร่วมแสดงออกถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณี ที่สืบทอดมาแต่อดีต เป็นการถวายตามประเพณีความเชื่อ อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ความเป็นชาวผู้ไท โดยเฉพาะรำผู้ไท ถือเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งความอ่อนช้อยสวยงาม รวมถึงเป็นการแสดงที่ผสมผสานวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การละเล่นตามประเพณีความเชื่อ เนื่องจากในท่วงท่ารำ จะสอดแทรกความสวยงาม บวกกับการละเล่นในอดีต ระหว่างหนุ่มสาว ที่มีการรำแบบเกี้ยวสาว มีทั้งรำเป็นหมู่ รำเป็นคู่ ส่วนท่ารำจะมีการประยุกต์นำเอาท่าทางของสัตว์ป่า มาเป็นท่ารำที่สวยงามลงตัว ไม่มีรูปแบบลงตัว แต่เน้นความเป็นธรรมชาติ สื่อถึงวิถีชีวิตชนเผ่าผู้ไท อาทิ ท่ารำเกี้ยว ท่ารำนกกะทาบินเรียบ ท่าเสือออกเหล่า ท่าเสือลากหาง ท่าม้ากระทืบโลง ท่าจระเข้ฟาดหาง ท่ามวยโบราณ ท่าหนุมานถวายแหวน หรือท่าถวายพญาแถน ล้วนเป็นท่าทางที่นำมาจากประเพณีความเชื่อ และแสดงออกถึงความแข็งแกร่งของฝ่ายชาย แต่จะมีกติกา คือการคงไว้ซึ่งการรักษาจารีตประเพณี นับถือผี ฝ่ายชายจะต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธา เกี่ยวกับประเพณีโบราณ ถือเป็นการแสดงที่สืบสานมาแต่อดีต ทำให้ปัจจุบัน กลายเป็นการแสดงที่สืบทอดกันมา และนำมาแสดงในงานประเพณีสำคัญของจังหวัด เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งยัง เป็นเสน่ห์ของชาวผู้ไทเรณูนคร
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- หลวงพี่ขับเก๋งชนราวสะพาน เผยเดินทางดูแลโยมแม่ ชาวบ้านวอนหยุดดราม่า-ตรวจสอบความจริง
- นายกเทศบาลตำบลนาคำ แจงเหตุต้องระงับเพลิงล่าช้า จากกรณีเหตุเพลิงไหม้บ้านพักอาศัยของชาวบ้าน
- ม.นครพนม จัดประชุมวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “บูรณาการ AI and Soft Power ในการบริหารภาครัฐ”
ด้าน นางสาว อนงค์นาฎ กัณณีย์ สาวนางรำชนเผ่าผู้ไท เรณูนคร เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ มาร่วมพิธีรำบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งทุกปีจะได้ มีโอกาสนำศิลปวัฒนธรรมที่ได้สืบสานมาแต่ปู่ย่า ตายาย ได้มาแสดงออกถึงความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยทุกชนเผ่าของ จ.นครพนม ล้วนมีขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์ของชนเผ่าที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงชนเผ่าผู้ไท เมื่อมีงานประเพณีสำคัญจะได้ร่วมกันแสดงออกถึงความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของชาวผู้ไท ยังคงไว้ซึ่งการแสดงที่เป็นการยึดเอาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ มาผสมผสานกับการแสดง ฝากถึงประชาชน นักท่องเที่ยว อยากให้ มาเที่ยวนครพนม ให้มากที่สุด รวมถึง อำเภอต่างๆ และอำเภอเรณูนคร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: