วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม (รก.อธก.มนพ.) ผศ.ดร.นุชรัตน์ มังคละคีรี ผศ.ดร.ทัศนา ประสานตรี และนายเอื้อ มูลสิงห์ รองอธิการบดีฯ ได้ใช้ห้องประชุมแพงพนม ชั้น 4 สำนักงานอธิการบดี พบปะกับกลุ่มภาคเอกชนและผู้สื่อข่าวในจังหวัดนครพนม โดยมีนายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม นายเทียมศักดิ์ เวียงศรีประเสริฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ นายปรารถนา พละมา บุคลากรทางการศึกษา พร้อมด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่สายเลือดคนนครพนมโดยกำเนิด เช่น นายเทวินทร์ ตรียะชาติ นายพงศ์พัชร บุญนิธิ นายนิธิ บุญนิธิ และนายพงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล ผู้สื่อข่าวจากสมาคมนักข่าวจังหวัดนครพนม ที่เกาะติดสถานการณ์มหาวิทยาลัยนครพนมมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
นายวัชรินทร์กล่าวว่าการเข้าพบ รก.อธก.มนพ. ในครั้งนี้ เพื่อขอทราบนโยบายและวิสัยทัศน์ สืบเนื่องด้วยมหาวิทยาลัยนครพนม ถูกคำสั่ง 103\2563 รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ใช้อำนาจตามมาตรา 51 ยุบสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภาฯ โดยให้เหตุผลจากสาเหตุไม่มีหลักธรรมาภิบาลและบริหารการเงินจนเกิดความเสียหาย
“มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นสมบัติของชาติและเป็นสมบัติของชาวจังหวัดนครพนม ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านการศึกษา การพัฒนา และตลอดจนถึงระบบเศรษฐกิจ เพราะจำนวนนักศึกษา จำนวนหลายหมื่นคน ในแต่ละรุ่น แต่ละสาขา ที่ต้องอาศัย หอพัก ร้านค้า ร้านธุรกิจ ร้านอาหาร การท่องเที่ยวฯ และส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในนามภาคประชาชนและเอกชน ผู้สื่อข่าวในจังหวัด จึงขอเข้าพบ ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ รก.อธก.ฯ และทีมบริหาร มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ขอให้ชี้แจง 1. สถานการณ์ 2. นโยบาย ในการบริหาร และ 3. อนาคตของมหาวิทยาลัยนครพนม และจังหวัดนครพนม เพื่อการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและแนวเสนอแลกเปลี่ยนในการพัฒนาฯ” นายวัชรินทร์ฯ กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อคณะทำงานฯ ว่า ที่ผ่านมา มนพ. จะเน้นในการก่อสร้างมากกว่าการพัฒนาการเรียนการสอน อาทิ เงินงบประมาณในการสร้างหอประชุมหรือสนามกีฬาสปอร์ตคอมเพล็กซ์ รวมแล้วเกือบพันล้านบาท ไม่มีความจำเป็นเลย แต่หากนำมาพัฒนาการเรียนการสอนจะเป็นผลดีต่อลูกหลานชาวจังหวัดนครพนมมากกว่า
ด้าน นายพงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล ในฐานะที่เป็นคนนำเสนอเรื่องราวในมหาวิทยาลัยนครพนมมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่าได้พบนักศึกษา มนพ. อย่างน้อย 5 คน ต่างสถานที่ต่างเวลา ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านักศึกษาเรียนดีแต่หัวแข็งอาจจะไม่จบ ถ้าเรียนไม่เก่งแต่ไม่หัวแข็งมักจะจบก่อนเสมอ ขณะที่กลุ่มคณาจารย์ไม่ค่อยมีสมาธิมากนัก เพราะต้องเอียงหูฟังผู้บริหารว่าจะให้หันไปทางไหน ถ้าทำอะไรโดยพละการก็อาจจะถูกกลั่นแกล้งต่างๆนาๆ อีกทั้งกรรมการสภาฯส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่มีผลประโยชน์ภายใน มนพ. ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
ผศ.จรูญ ถาวรจักร รก.อธก.มนพ. เปิดเผยว่าตนเองมาอยู่ในช่วงที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สภาฯวางกรอบแนวความคิดและแนวทางในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นประการที่หนึ่ง เรื่องสำคัญลำดับต้นๆก็คือการทำให้มหาวิทยาลัยฯ มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นไปตามปกติ เพราะว่ามหาวิทยาลัยโดยหลักการแล้วจะต้องมีสภามหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นองค์กรสูงสุด ในการบริหารจัดการกำกับฯ
คณะผู้ปฏิบัติการก็จะเข้ามาทำหน้าที่ ดูตั้งแต่กรอบความคิด ข้อบังคับ แนวทางถึงความเป็นไปได้ว่าสภามหาวิทยาลัยที่อยู่ในปกติ สภาฯจะสามารถขับเคลื่อนดูแลรับผิดชอบมหาวิทยาลัยควรมีแนวทางอย่างไร บุคคลหรือบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานนั้นควรจะเป็นลักษณะอย่างไร ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งความจริงเดิมก็มีแนวปฏิบัติอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าสิ่งที่พวกท่านสะท้อนออกมา ก็มีส่วนที่ว่ามันเป็นปัญหามาโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็ต้องไปดูที่ต้นตอของปัญหานั้น
ประการที่สองเรื่องที่เกี่ยวกับตัวอธิการบดี ก็ต้องดูทั้งแนวทางความเป็นไปเป็นมาว่าการได้มาของอธิการบดีเป็นอย่างไร ที่จะทำให้ได้ผู้บริหารที่มีคุณภาพ มีศักยภาพความสามารถในการนำพามหาวิทยาลัยฯให้พัฒนาก้าวหน้าได้อย่างไร นี่เป็นภาระหลักๆของคณะทำงานในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สภาฯ
“ แต่ในระหว่างที่ดำเนินการในขณะนี้ อะไรที่เป็นสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เราก็จะทำควบคู่ขนานกัน ดังนั้นต้องเรียนว่าจะไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะอยู่ต่อเนื่องยาวนาน เพราะมาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดก็มาในฐานะผู้รักษาการ สภาฯก็มาในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภา ที่จะต้องนำกรอบความคิดวิธีการต่างๆที่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหมาะสมและก็ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ให้มหาวิทยาลัยนครพนมเกิดความชัดเจนอันนี้เป็นหลักการที่ถูกต้อง”
“ในระหว่างนี้ผมในฐานะเข้ามารับผิดชอบ ในเรื่องบริหารจัดการก็ต้องเข้ามาดูแลดำเนินการ ในสิ่งที่เป็นแบบเป็นระบบของมหาวิทยาลัยฯ เรื่องที่ตัวแทนสื่อเสนอเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเรื่องของความการเป็นสถาบันการศึกษา คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และก็คุณภาพของการศึกษาไม่มีการเลือกปฏิบัติ ผู้ที่เข้ามาเป็นนักศึกษาเป็นนิสิตของสถาบันทุกคน ต้องมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียบกัน แม้แต่ในปริญญาบัตรเขาก็เขียนไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นกรอบความคิดและแนวทางบริหารจัดการก็เป็นไปอย่างนั้นฯ” รก.อธก.มนพ.กล่าว
สำหรับเป้าหมายของคณะทำงาน ต้องการจะพลิกโฉมมหาวิทยาลัยนครพนมใหม่ทั้งหมด ด้วยการมองไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆที่มีชื่อเสียง เขามีคณะอะไรที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย เช่น ราชมงคล,พระจอมเกล้าฯ หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นต้น ซึ่ง ผศ.จรูญฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าจะทำให้ มนพ. เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพให้จงได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: