นครพนม – วันที่ 15 ต.ค.61 เวลา 08.09 น. นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม และนางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.ฯ นำหัวหน้าส่วนราชการ บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนครพนม เพื่อความเป็นสิริมงคล ในการจัดงานประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาดประจำปี 2561 ตามคติความเชื่อและศรัทธาของคนลุ่มแม่น้ำโขง กราบไหว้ขอพรก่อนเปิดงานประเพณีไหลเรือไฟ เพื่อให้งานดำเนินการไปด้วยความราบรื่นตลอดงาน โดยเริ่มต้นจากศาลหลักเมือง ถนนอภิบาลบัญชา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดฯ จากนั้นก็เดินไปที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าหอสมุดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นเดินทางไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด(หลังเก่า) ริมฝั่งโขง ถนนสุนทรวิจิตร ไหว้ศาลพระภูมิบริเวณหน้าจวน และศาลเจ้าที่บริเวณหลังจวน,ศาลเจ้าพ่อคำแดง ผู้ปกปักดูแลลูกหลานตามริมแม่น้ำโขง,พระติ้ว พระเทียม วัดโอกาสศรีบัวบาน,ศาลเจ้าพ่อหมื่น ศาลปู่-ย่า,พญาศรีสัตตนาคราช,หลวงปู่จันทร์ พระแสง วัดศรีเทพประดิษฐาราม และศาลเจ้าพ่อสัมมาติ โดยงานประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-25 ต.ค.61(9 วัน 9 คืน) บริเวณศาลากลางจังหวัดนครพนม เป็นสถานที่จัดงานกาชาด และริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นสถานที่ไหลเรือไฟอันยิ่งใหญ่ คาดจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจำนวนเรือนแสน มาชมประเพณีโบราณ จัดขึ้นในช่วงทศกาลออกพรรษาของทุกปี เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ตลอดจนเป็นการขอขมาลาโทษต่อแม่น้ำโขง ที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตประจำวัน ตามความเชื่อเผาทุกข์ลอยเคราะห์ไปกับสายน้ำ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ เดินทางไปกราบไหว้สักการะนั้น ชาวจังหวัดนครพนมเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมาช้านาน เช่นหอประดิษฐาน “พระติ้ว พระเทียม” เป็นพระคู่แฝดแห่งเมืองนครพนม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล ตามประวัติพระติ้ว พระเทียม นั้น แกะสลักจากไม้ติ้ว ปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 39 ซ.ม. สูง 60 ซ.ม.สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ.1238 โดยพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์ เจ้าผู้ครองนครอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านกำแพงวัดโอกาสฯทางทิศเหนือ คือ”ศาลเจ้าพ่อหมื่น” เป็นสถานที่คนไทยเชื้อสายจีนให้เคารพนับถือ ตามตำนานเล่าว่า “จมื่นรักษาราษฏร์” เป็นนายกองเมือง ต่างพระเนตรพระกรรณแทนเจ้าพระยาศรีโคตรบูรหลวง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ว่างจากงานหลวงก็จะเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทั้งยังเป็นแพทย์แผนโบราณ นอกจากนี้ จมื่นรักษาราษฎร์ยังมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันชาตรี หลังเสียชีวิตชาวบ้านเชื่อว่าวิญญาณท่านยังคงวนเวียนอยู่บริเวณนี้ จึงร่วมใจกันสร้างศาลไว้กราบไหว้บูชา หรือบนบานศาลกล่าวมักจะสัมฤทธิ์ผลเสมอ
“พระแสง” ประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถวัดศรีเทพประดิษฐาราม ถนนศรีเทพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้างมีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว ตำนานเล่าว่าสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง พร้อมกับพระสุกและหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย จากคำบอกเล่ากล่าวว่าสร้างโดยพระราชธิดาแห่งอาณาจักรลานช้าง มีทั้งหมด 4 องค์ คือ พระเสริม พระสุก พระใส พระแสง ในสมัยที่เจ้าอนุวงศ์ เจ้านครเวียงจันทร์หนีข้าศึกล่องลงไปทางใต้ ได้นำพระสุก และพระแสงลงเรือไปด้วย ปรากฏว่าเรือที่ใส่พระสุกนั้น เกิดล่มจมลงบริเวณ”เวินพระสุก” อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย(ในปัจจุบัน) เจ้าอนุวงศ์จึงได้นำแต่พระแสงล่องมาจนถึงเมืองนครพนม โดยนำไปซ่อนไว้ในถํ้าในเมืองมหาชัยก่องแก้ว แขวงคำม่วน สปป.ลาว(ในปัจจุบัน) ภายหลังทางกรุงเทพมหานครทราบข่าว จึงให้เจ้าเมืองนครพนมนำพระแสงไปส่งในเมืองหลวง แต่เกวียนที่นำไปไม่สามารถนำไปได้ จึงประดิษฐานไว้ที่วัดป่า ต่อมาจึงย้ายมาที่วัดศรีเทพประดิษฐารามจวบจนปัจจุบันนี้
ตามคติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้องนั้น พระแสงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อเกิดเหตุเภทภัยฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะทำพิธีบนบานต่อหลวงพ่อพระแสง โดยมีการจัดไหลเรือไฟถวายเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยทางวัดศรีเทพฯ เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้านมัสการพระแสงได้เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์และวันพระเท่านั้น
และ “ศาลเจ้าพ่อสัมมะติ” เมื่อ พ.ศ.2329 พระบรมราชา(พรหมา) เจ้าเมืองมรุกขนคร ได้ย้ายมาจากนครธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวก ซึ่งถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพัง มาตั้งอยู่เมืองใหม่ บริเวณบ้านหนองจันทน์ (ต.ท่าค้อ ในปัจจุบัน) และได้อัญเชิญดวงวิญญาณของ”ผีหลักเมือง” ชื่อ “เจ้าพ่อสัมมะติ” ให้มาเป็น”มเหศักดิ์หลักเมือง” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองจากมรุกขนครเป็น”เมืองนครพนม”
คนนครพนมเชื่อว่าในหนึ่งปี จะมีเจ้าพ่อทั้ง 7 ที่รักษาบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาเล่นตีคลี(เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง)ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อสัมมะติ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 และครั้งที่สองคือ วันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมา คือให้เลี้ยงผีเจ้าพ่อทั้ง 7 ที่มาเล่นตีคลี ครั้งที่แรกด้วยลาบปลา ต้มปลา เรียกว่า”เลี้ยงปลาบ่าวปลาสาว” ครั้งที่สองเลี้ยงลาบไก่ ต้มไก่ เรียกว่า”เลี้ยงไก่” และยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: