มุกหาหาร – วันที่ 18 ต.ค.61 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตเทศบาลตำบลดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่มีพญานาค 2 ตน เป็นจุดเด่น นายชยันต์ ศิริมาศ ผวจ.มุกดาหาร แถลงข่าวงานประเพณีหลังวันออกพรรษา โดยเปิดเผยว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ(ทกจ.ฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ วัฒนธรรมฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม เทศบาลตำบลดอนตาล และ สมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดฯ กำหนดจัดงานประเพณีโบราณของชาวบ้านดอนตาล ที่สืบสานมาอย่างยาวนาน คือ “งานปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน” ปี 61 เพื่อยกระดับงานประเพณีอันเก่าแก่นี้ ให้มีความน่าสนใจ ในการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาสัมผัสกับไอดินกลิ่นหญ้า ที่ชาวบ้านดอนตาลยังคงรักษาขนบธรรมเนียมโบราณไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อันเป็นการสร้างรายได้สู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน
ผวจ.มุกดาหาร กล่าวว่า ชาวอำเภอดอนตาลเป็นชนเผ่าไทยกะเลิง อพยพมาอยู่ในพื้นที่มุกดาหารครั้งแรก ในราวสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ผ่านมาหลังวันออกพรรษา ได้ยึดมั่นสืบสานประเพณีการทำจุลกฐินเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ ได้ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงาน “ปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน” ขึ้น ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. ณ วัดมัชฌิมาวาส หมู่ 1 เขตเทศบาลตำบลดอนตาล ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นสาวพรหมจารีเก็บดอกฝ้าย จากนั้นก็จะแห่ดอกฝ้ายไปยังวัดมัชฌิมาวาส และในช่วงเย็นวันที่ 26 พ.ย. จะมีพิธีไหลเรือไฟโบราณสะเดาะห์ ตรงบริเวณจุดชมวิวแม่น้ำโขง แลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวดอนตาลสืบทอดปฏิบัติกันมาแต่บรรพบุรุษ
ข่าวน่าสนใจ:
โดยแต่ละคุ้มจะทำเรือไฟจากกาบกล้วย ยาวประมาณ 2 เมตร ตกแต่งด้วยธงทิว ดอกไม้ ของไหว้ขอขมา อาทิ หมากพลู ปั้นข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ผลไม้ อาหารคาวหวาน โดยมีความเชื่อและถือปฏิบัติของผู้ที่มาร่วมพิธีให้ ตัดเล็บ ตัดผม บริจาคปัจจัย วางไว้ในเรือไฟ เชื่อว่าเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์ให้ชีวิตหมดเคราะห์หมดโศกหายจากโรคภัย ให้ไหลไปสายน้ำและมอดไหม้ไปกับเปลวไฟ นอกจากนี้ยังมีงานพาแลง รับประทานอาหารแบบพื้นเมือง พร้อมชมการแสดงศิลปะพื้นเมือง คือลำพญาดอนตาล เป็นการร้องลำเกี้ยวกันระหว่างชายหญิง โดยมีศิลปินลำผญาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมุกดาหาร นางผมหอม สกุลไชย น.ส.ชนภา(บุญล้อม) พิกุลศรี นางอรทัย สกุลไทย นายมาก ใจฑัต ฯลฯ และเมื่อปี 2552 ลำผญามุกดาหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ภายในงานยังรำวงย้อนยุคดอนตาล คาลิปโซ่ ที่สนุกสนานอีกด้วย
วัดมัชฌิมาวาส เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ของอำเภอดอนตาล เป็นที่รักษากลองมโหระทึกโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูนมีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงข้ามกับบ้านนาทาม แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว
ประเพณีจุลกฐิน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฐินแล่น” เป็นการทำกฐินด้วยความเร่งด่วน โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านในชุมชน ตั้งแต่การช่วยกันกำหนดวันปลูกฝ้าย จนถึงวันจัดพิธีจุลกฐิน ซึ่งต้องจัดในช่วงกำหนดระยะเวลาพระวินัยบัญญัติ คือ วันสิ้นสุดเขตกฐิน (เริ่มจากวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) การทำจุลกฐินต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะและความพยายามมากกว่ากฐินธรรมดา เพราะมีระยะเวลาจำกัด โดยมีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่พิธีการบวชชีพราหมณ์เพื่อความบริสุทธิ์ของดอกฝ้าย การเก็บดอกฝ้ายโดยสาวพรหมจรรย์ ก่อนส่งมอบดอกฝ้ายในการนำเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ เช่น การคัดแยกฝ้าย การอิ้วฝ้าย การดีดฝ้าย การล้อฝ้าย และการเข็นฝ้าย จนถึงขั้นตอนการทอเป็นผืนผ้า แล้วร่วมกันนำทอดถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า “กรานกฐิน”นั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: