นครพนม – “สหายแสง” เปิดงานปั่นจักรยาน วันรำลึก 45 ปี พระธาตุพนมล้ม จิตอาสาตระเวนรับดอกไม้ถวายองค์พระธาตุ
วันที่ 11 สิงหาคม 2563 บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม “สหายแสงหรือครูแก้ว” นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย/รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานปั่นจักรยาน เนื่องในวันรำลึกพระธาตุพนมล้ม ครบรอบ 45 ปี (11 สิงหาคม 2518) โดยมี นายจรูญ เหง่าลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดนครพนม นายนิวัติ เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม นายสมนาม เหล่าเกียรติ ประธานหอการค้าฯนครพนม จ.อ.พร้อมพันธ์ กุลภา นักจัดรายการที่นี่ศรีโคตรบูรณ์ เสียงจากทหารเรือ 7(ส.ทร.7 นครพนม) ฯลฯ โดยมีนักปั่นจากหลายจังหวัด เช่น แพร่ สุโขทัย อำนาจเจริญ สกลนคร มุกดาหาร ตราด จันทบุรีฯลฯ กว่า 300 คน ร่วมในพิธีดังกล่าว
การจัดงานรำลึกองค์พระธาตุพนมล้ม เป็นการรวมตัวของนักกีฬาประเภทวิ่ง และปั่นจักรยาน ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พระธาตุพนม โดยมีการจัดงานเดิน วิ่ง และปั่นจักรยานอยู่หลายอำเภอ จุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม พร้อมทั้งบริจาคเงินเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือสาธารณะกุศลต่างๆ
ส่วนภายในเขตเทศบาลเมืองนครพนม มี นายณรงค์ชัย เถาว์สี อายุ 59 ปี ผู้ทำงานด้านจิตอาสามานานกว่า 14 ปี ได้ติดป้ายรถแห่กระจายเสียงตระเวนรับดอกไม้ ธูป เทียน จากประชาชนที่ไม่มีเวลาเดินทางไปกราบนมัสการองค์พระธาตุพนมด้วยตนเอง โดยอาสานำเครื่องสักการะไปถวายต่อองค์พระธาตุพนมถึงวัด นอกจากนี้นายณรงค์ชัยยังเป็นโฆษกบนเรือสำราญเทศบาลเมืองนครพนม ที่เล่าเรื่องราวสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงได้อย่างละเอียด นักท่องเที่ยวต่างชื่นชอบในลีลาการเล่าที่สนุกสนาน นำเรื่องราวไปเผยแพร่ในโซเซียลหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเรือสำราญเทศบาลฯจะจอดอยู่หน้าตลาดอินโดจีน ออกเวลาประมาณ 17.00 น. โดยการเป็นโฆษกบนเรือสำราญนี้นายณรงค์ชัยไม่ขอรับเงินค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
ข่าวน่าสนใจ:
องค์พระธาตุพนมล้ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 โดยในปีเดียวกันได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม องค์พระธาตุจึงเกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่ปริร้าวลงมายังฐาน จากนั้นองค์พระธาตุฯก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝนในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลา รอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น
วันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลาเช้าฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่กึ่งกลางของด้านตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี มีปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น กระทั่งถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วงจนได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุ โดยอิฐร่วงลงมาเป็นระยะๆ ภายในฐานมีรูทะลวงลึกเข้าไปเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรง การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้ มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา กระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายใน ทำให้เข้าใจว่าส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน ขณะนั้นองค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด
ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ โดยหักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับวัตถุก่อสร้างอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทิศเหนือและทิศใต้ ศาลาการเปรียญและพระวิหารหอพระแก้วเสียหายทั้งหมด เนื่องจากอายุการสร้างมานานนับ 2,500 กว่าปี และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อเติมตามยุคสมัย ซึ่งไม่มีฐานรากที่มั่นคงเหมือนยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้องค์พระธาตุพนมพังทลายลงตากาลเวลา
หลังจากนั้นได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นครั้งแรก และเป็นที่ปลื้มปีติของชาวพุทธ ที่ได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พบพระอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนหน้าอกด้านซ้าย) อยู่ที่พระธาตุท่อนกลาง ซึ่งสูงจากระดับพื้นดิน 14.70 เมตร แต่ในขณะที่พบนั้นอยู่บนกองอิฐปูนที่พังลงมาจากพระธาตุพนมชั้นที่ 2 ส่วนบน สูงจากระดับพื้นดิน ประมาณ 3 เมตร พระอุรังคธาตุนี้ได้บรรจุไว้สลับซับซ้อนมาก โดยบรรจุอยู่ในผลบแก้ว ผลบทองคำ ตลับเงิน และบุษบกทองคำ รวม 6 ชั้น
สำหรับพระอุรังคธาตุ มีจำนวน 8 องค์ ประกอบด้วย 1. วรรณะสีพิกุลแห้ง 2 องค์ 2. วรรณะสีพิกุลสด 3 องค์ 3. วรรณะสีขาวคล้ายดั่งงาช้าง 3 องค์ โดยพระธาตุทั้ง 8 องค์ มีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงไว้เป็นที่อัศจรรย์ หลังองค์พระธาตุพนม สร้างความโศกเศร้าแก่พุทธศาสนิกชนทั่วโลก มีประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิมเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522
โดยมีข้อมูลบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประกอบพิธีสรงพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า และทอดพระเนตรซากปรักหักพังพระธาตุพนม ต่อมาเมื่อวันที่ 25-26 ธันวาคม 2518 ทรงเสด็จประกอบพิธี สมโภชพระอุรังคธาตุ และวันที่ 23 มีนาคม 2522 เสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ ภายในองค์พระธาตุพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: