นครพนม – วันที่ 12 สิงหาคม 2563 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะประชาชนจิตอาสาพระราชทานฯ หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ร่วมกันปลูกต้นทองกวาว จำนวน 489 ต้น เฉลิมพระเกียรติ พร้อมมอบถุงยังชีพและนมกล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ที่จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ จัดขึ้น ณ ที่สาธารประโยชน์ห้วยฮ่องฮอระหว่างบ้านดงโชคและบ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั่วทั้งประเทศ
พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผืนป่า โดยมีพระราชดำริให้ตั้งโครงการป่ารักน้ำขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากให้ได้มีอาชีพที่สุจริต มีรายได้เพื่อประทังชีวิต โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ป่ามีจำนวนลดน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลพวงมาจากการที่ชาวบ้านลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพราะไม่มีที่ทำกิน ซึ่งการแผ้วถางเผาป่าในครั้งหนึ่งประมาณ 50-60 ไร่ แต่นำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรจริงเพียง 5-10 ไร่เท่านั้น
โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำพระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
“เราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งว่าทรัพยากรป่าไม้นั้นสำคัญต่อพวกเรามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ให้ความชุ่มฉ่ำต่อแผ่นดินและป่าไม้ ต้องมีสัตว์เพื่อช่วยในการขยายพันธุ์และสร้างความสมดุลของธรรมชาติ ส่วนสัตว์ป่านั้นก็ต้องมีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย จึงกล่าวได้ว่า มนุษย์ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความสัมพันธ์กันอย่างละเอียดลึกซึ้งจนไม่สามารถจะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดได้”
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับต้นทองกวาวนั้น เป็นไม้มงคลตามความเชื่อของคนไทยและเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ มีชื่อเรียกทางภาคเหนือว่าก๋าว ภาคใต้เรียกว่าจอมทอง ภาคอีสานเรียกว่าดอกจาน และภาคกลางเรียกว่าทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ และต้นทอง ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปเมื่อโตเต็มที่จะความสูง 5–15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งต่ำคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคล้ำค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีน้ำยางใส ๆ ไหลออกมาทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง
โดยต้นทองกวาวนั้นมีประโยชน์ตั้งแต่ดอกที่สามารถใช้ต้มดื่มเพื่อเป็นยาแก้ปวด ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ หรือถ้านำดอกมาบดเอาน้ำเพื่อหยอดตาก็สามารถรักษาอาการตาแดง เจ็บตา ปวดตา ระคายเคืองตา ตามัว ตาแฉะและตาฟางได้ ส่วนฝักใช้ต้มเพื่อเอาน้ำมาดื่มเป็นยาขับพยาธิ ยางใช้รับประทานแก้อาการท้องร่วง ส่วนเปลือกมีงานวิจัยพบว่าสารที่สกัดจากเปลือกจะช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้นแต่จะลดจำนวนอสุจิ ขณะที่เมล็ดบดผสมมะนาวใช้ทาแก้อาการผื่นคัน ใบใช้ต้มเพื่อดื่มแก้ปวด ขับพยาธิ และแก้ริดสีดวงทวาร ส่วนรากใช้ต้มรักษาโรคประสาทและบำรุงธาตุในร่างกาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: