นครพนม – ประเพณีไหลเรือไฟ บางที่เรียกว่า “ลอยเรือไฟ” “ล่องเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเรือไฟ” ภาษาถิ่นจะเรียกว่า “ล่องเฮือไฟ” “ลอยเฮือไฟ” เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11(วันออกพรรษา) เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมาจากคติความเชื่อว่า คือ การบูชารอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที ประเทศอินเดีย หรือการบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาสู่มนุษย์โลก หลังจากขึ้นไปเทศนาโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือที่เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” โดยผสมผสานกับคติความเชื่อท้องถิ่น ในการสักการะท้าวผกาพรหม การขอขมาและบูชาพระแม่คงคา ตลอดจนการบูชาพญานาค การขอฝน และการสะเดาะเคราะห์ เผาความทุกข์ให้ลอยไปตามสายน้ำ
ชาวจังหวัดนครพนมเรียนรู้ สั่งสม และสืบทอดภูมิปัญญา ศิลปะการสร้างเรือไฟมาแต่โบราณ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ทุกวันนี้เรือไฟจะมีความยิ่งใหญ่ตามวันเวลา แต่ยังคงมีการอนุรักษ์เรือไฟต้นฉบับแบบดั้งเดิม ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเรือไฟให้ทันสมัยทั้งรูปแบบ ความงาม และเพิ่มเทคนิคการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ
ข่าวน่าสนใจ:
- องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานแก่ประชาชนผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ จ.นครพนม
- ม.นครพนม จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก
- แชร์สนั่น! ซอไม้ไผ่ สุดยอดนวัตกรรมดนตรีวัยรุ่นยุคใหม่ เท่อย่างไทยสู่สากล
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
ต้นกำเนิดการไหลเรือไฟ ถือว่าเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวอีสานในลุ่มน้ำโขง ช่วงวันออกพรรษา ที่จัดขึ้นภายในชุมชน หรือหมู่บ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำ โดยมีการสร้างเรือไฟ เพื่อขอขมาลาโทษต่อพระแม่คงคา ภายหลังประมาณปี 2518 ประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ได้หยุดลงชั่วคราว อาจจะเกี่ยวข้องกับที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีความปลอดภัยในการลอยเรือไฟ จึงต้องชะงักประเพณีดังกล่าวไว้ก่อน
กระทั่งปี 2526 นายบวร บุปผเวส นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม(ในขณะนั้น) พร้อมกับหมู่เพื่อนๆ สมาคมเจซี ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วยกันฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้นมาใหม่ โดยเทศบาลฯได้ออกประกาศเชิญชวนส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่างๆให้ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ เพื่อประกวดประชันด้านความคิดและความสวยงาม ในปีดังกล่าวมีเรือส่งเข้าชิงชัยถึง 52 ลำ เล่าลือกันว่าปีดังกล่าว มีเรือไฟที่งดงามจากฝีมืออันประณีต ประดับด้วยโคมไฟสวยสะดุดตา เรียงรายอยู่กลางแม่น้ำโขง เป็นภาพที่ประทับใจของชาวนครพนมและผู้มาเที่ยวชมอย่างยิ่ง
ถัดมาในปี 2528 งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามลำดับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จึงนำเข้าสู่ปฏิทินเทศกาลท่องเที่ยวไทย เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม โดยเน้นรูปแบบด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ช่วงเทศกาลออกพรรษาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
กระทั่งปี 2533 จังหวัดนครพนมได้ขอพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่ออัญเชิญมาจุดที่เรือไฟแบบดั้งเดิม เพื่อความเป็นสิริมงคลในการจัดงาน จากนั้นจึงจุดต่อไปยังเรือไฟประกวด และยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
จากวันนั้นถึงวันนี้ จังหวัดนครพนมได้จัดงานไหลเรือไฟเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา โดยใช้ชื่องานดังกล่าวว่า “งานไหลเรือไฟและกาชาด” รวม 9 วัน 9 คืน แบ่งการออกเป็น 2 โซน รอบศาลากลางจังหวัดฯเป็นงานกาชาด ส่วนเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นการชมไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการจาก 12 อำเภอ นอกจากนี้ยังมีการลอยเรือไฟโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบเรือไฟในปัจจุบัน ที่ชาวนครพนมทั้ง 25 คุ้ม ร่วมกันอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น โดยจุดตั้งขบวนเรือไฟโบราณ จำนวน 12 ลำ ตามปีนักษัตร 12 ราศี อยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าวัดโพธิ์ศรี ถนนสุนทรวิจิตร ใกล้กับองค์พญาศรีสัตตนาคราช คณะผู้จัดจะเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีเก่าแก่นี้ ด้วยการให้ตัดเล็บ ตัดผม วางไว้ในเรือไฟ ตามคติความเชื่อว่าเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์ให้ชีวิตหมดเคราะห์หมดโศก หายจากโรคภัย สิ่งชั่วร้ายในชีวิตจงไหลไปกับสายน้ำ และมอดไหม้ไปพร้อมกับเปลวไฟ
โดยเรือไฟโบราณทั้ง 12 ลำ 12 ปีนักษัตร นี้ จะปล่อยลงสู่แม่น้ำโขงในวันที่ 24 ต.ค. เวลาประมาณ 17.30 น. จากนั้นก็จะถึงคิวเรือไฟปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าเป็นเรือไฟประยุกต์ ส่วนลวดลายบนเรือไฟแต่ละลำขึ้นอยู่กับศิลปินเรือไฟ จะจินตนาการตามความคิด ความเชื่อ ในทางพระพุทธศาสนา และความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตลอดจนสัตว์ในเทพนิยาย
ความแตกต่างระหว่างเรือไฟโบราณกับเรือไฟในปัจจุบันคือ เรือไฟโบราณมีขนาดความยาวไม่เกิน 5 เมตร สูงราว 1 เมตร สร้างจากกาบกล้วย ตกแต่งด้วยธงทิว ดอกไม้ ของไหว้ขอขมา อาทิ หมากพลู ปั้นข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด ผลไม้ อาหารคาวหวาน ใช้เวลาสร้าง 1 วัน
ด้านเรือไฟประยุกต์ ใช้ระยะเวลาสร้างประมาณ 1 เดือน ฐานสร้างจากไม้ไผ่ผูกกับถังน้ำมันมัดเป็นแพ มีความยาวเกือบ 100 เมตร และสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น มีตะเกียงไฟราว 20,000-30,000 ดวงเป็นตัวส่องแสงสว่าง แสดงถึงความคมชัดของลวดลาย ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ มีเทคนิคใหม่ๆประกอบการนำเสนอ เช่น พลุ ตะไล ไฟพะเนียง เพื่อเสริมความอลังการ
ปัจจุบันนี้เรือไฟของจังหวัดนครพนม ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก ที่มีประเพณีทางน้ำในวันออกพรรษายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ร่วมกันสรรค์สร้างตามจินตนาการอันยิ่งใหญ่กลางสายน้ำโขง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: