นครพนม – นำแกนนำพลังบวรของชุมชนคุณธรรมดูชุมชนต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่จังหวัดนครพนม นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะแกนนำพลังบวรของชุมชนคุณธรรม คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรมและสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบของประเทศ ตามโครงการต่อยอดพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน บวร On Tour ของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ระยะที่ 3 ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนมจัดขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้รับองค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ไปปรับใช้ในการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนของตัวเองให้มีศักยภาพและตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวของชุมชนคุณธรรมบ้านท่าเรืออีกด้วย
โดยประชาชนในชุมชนบ้านท่าเรือได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จ ทำให้ทุกคนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บนพื้นฐานของความรักความสามัคคี น้ำหนึ่งใจเดียวกันของบ้าน วัดและโรงเรียนที่พร้อมแบ่งปันกันเสมอ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ที่มาและแนวความคิดในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนชุมชน ไปจนถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมมาต่อยอดพัฒนาเพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ จากนั้นจึงได้แบ่งกลุ่มไปเยี่ยมชมตามจุดต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีเรื่องเล่า มีประวัติศาสตร์และหลักฐานทางวัตถุให้ผู้ที่มาชมได้เห็น บางแห่งก็มีการส่งเสริมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รักษาป่าของชุมชนให้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม การเยี่ยมชมการผลิตเครื่องดนตรีอีสานพื้นบ้านซึ่งประกอบไปด้วย แคน พิณ โหวด ปี่นก ซึ่งปัจจุบันคนในชุมชนมียอดสั่งจองเป็นจำนวนมากเพราะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์และการจำหน่ายโดยมีการเปิดเพจและช่องยูทูบเพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศได้เข้ามาชมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้าและเห็นคุณภาพของสินค้าจากการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ ให้ได้ชม ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถสั่งจองออนไลน์ได้เลยในราคาที่เป็นกันเอง ตามมาด้วยการเยี่ยมชมการผลิตของฝากของที่ระลึกผลิตภัณฑ์ OTOP และการเยี่ยมชมกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ที่เป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกของประเทศ ในโครงการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่มีการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายต่าง ๆ เพื่อจำหน่าย นำมาซึ่งรายได้ของทุกคนในชุมชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: