นครพนม – วันที่ 24 ต.ค.61 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา มีพิธีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ในเวลา 08.00 น. ณ บริเวณลานกว้างหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานสงฆ์ นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมกับนางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.ฯ พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการ มณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) และหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาในพิธีฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ซึ่งจังหวัดนครพนม คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ยึดถือปฏิบัติจัดขึ้น ก่อนจะเริ่มไหลเรือไฟในค่ำวันเดียวกัน
การฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถ้าถือเป็นตำนานแล้ว มีมาตั้งแต่สร้างพระธาตุพนมในยุคแรก คือสมัยของพระมหากัสสปะเถระ และพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูร กาลต่อมาได้ปรากฏหลักฐานว่า มีการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำติดต่อกันทุกปี
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้กำกับ สภ.บางเสาธง เชิญตัวคู่กรณีทั้งสองฝ่ายพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่รถชนกันแล้วมีอ้างรู้จักตำรวจ
- โหดเหี้ยม!หนุ่มถูกมีดฟันยับดับกลางถนน คาดทะเลาะในวงเหล้า
- นครพนม เปิดคลิป วัยรุ่น เหิมหนัก ยกพวกใช้มีดไล่ฟันคู่อริ พร้อมทุบทำลายทรัพย์สินอย่างไม่เกรงกลัวกฏหมาย
- พะเยา หนุ่มจ่ายบิลไฟฟ้าหัวร้อนกระบองเหล็กเขวี้ยงสุนัขถูกกระจกบ้านเสียหายขับรถ จยย หลบหนี
มูลเหตุของการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น สืบเนื่องมาจากพระธาตุพนมเป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขง ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงศรัทธาปสาทะในองค์พระธาตุพนม อันมีอยู่ในสายเลือดของคนเหล่านั้น จึงผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะต่างกัน ทั้งอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา สำหรับอามิสบูชานั้น นอกจากบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์ มโหรี ด้วยการฟ้อนรำในโอกาสอันควรด้วย โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศล เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม
ต่อมา นายอุทัย นาคปรีชา ดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครพนม(2527-2531) ซึ่งในปี 2530 ได้ริเริ่มฟื้นฟูการฟ้อนบูชาพระธาตุพนมขึ้น โดยให้ร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 กำหนดในภาคเช้า ให้มีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม บริเวณลานกว้างหน้าวัดพระธาตุพนมฯ อ.ธาตุพนม ส่วนภาคค่ำก็จะไหลเรือไฟในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอ นำศิลปะการแสดงของชนเผ่าตนมาโชว์ กระทั่งถึงปี 2532 นายมังกร กองสุวรรณ ผวจ.นครพนม คนต่อมา ได้เลื่อนพิธีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11หรือวันตักบาตรเทโว จนย่างถึงปี 2542 ก็กลับมาฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 กระทั่งทุกวันนี้
ก่อนจะเริ่มการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม มีพิธีแห่เครื่องสักการบูชา โดยการนำของนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ นายอำเภอธาตุพนม ข้าราชการทุกภาคส่วน พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม โดยคณะนางรำจากทุกอำเภอจะตั้งขบวนที่ประตูโขงเดินเข้าสู่บริเวณพิธีหอพระแก้ว วัดพระธาตุพนมฯ ผวจ.ฯถวายเครื่องสักการบูชา กล่าวนำไหว้พระธาตุ ประกอบพิธีทางศาสนา และกล่าวเปิดงาน โดยพิธีฟ้อนบูชาพระธาตุพนม จำนวน 6 ชุด มีตามลำดับดังนี้ คือ 1.ฟ้อนตำนานพระธาตุพนม(อ.ธาตุพนม) เป็นการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญ ในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี ซึ่งกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม การฟ้อนชุดนี้แสดงครั้งแรกในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2522 จึงถือเป็นเอกลักษณ์ใช้ฟ้อนเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมทุกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และตั้งแต่ พ.ศ.2530 ได้นำมาบูชาพระธาตุพนมในงานไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม เป็นต้นมา 2.ฟ้อนศรีโคตรบูร(อ.ปลาปาก อ.ศรีสงคราม) ด้วยนครพนมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ครอบคลุมอาณาบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณแขวงคำม่วน และสะหวันนะเขตในปัจจุบัน เป็นดินแดนแห่งการสั่งสมวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่ง
ฟ้อนชุดนี้ถูกปรับปรุงให้เป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม เพื่อแสดงให้ระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นการฟ้อนรำที่ผสมผสานกับของเซิ้งอีสาน ที่มีความสนุกสนาน กับการฟ้อนภูไทที่มีความอ่อนช้อย สวยงาม มีลักษณะท่าฟ้อนตามแบบฉบับของชาวอีสาน คือ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง มีความกลมกลืนระหว่างท่าฟ้อนกับดนตรีพื้นเมืองอีสาน ที่มีเสียงไพเราะและสมบูรณ์ยิ่ง ฟ้อนศรีโคตรบูร ถือเป็นการฟ้อนอีกชุดหนึ่ง ในการฟ้อนบูชาพระธาตุพนมในเทศกาลไหลเรือไฟทุกปี
3.ฟ้อนผู้ไทย หรือภูไท (อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง) ได้พัฒนาและดัดแปลงมาจากศิลปะการฟ้อน ซึ่งแสดงในงานเทศกาลต่างๆ คือ การฟ้อนขอฝนจากพญาแถนให้ตกต้องตามฤดูกาล ในประเพณีการจัดงานบุญบั้งไฟ และการฟ้อนสมโภชงานทำบุญมหาชาติ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงศิลปะกานฟ้อน การแต่งกายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และวามสนุกสนาน ร่าเริง หยอกล้อของหนุ่มสาว หลังจากพิธีการสำคัญตามประเพณีผ่านล่วงไป
ลักษณะการฟ้อนภูไท ชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อน ซึ่งหญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทต้องเป็นสาวโสดเท่านั้น ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อน เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือในขณะฟ้อนภูไทนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้
4.ฟ้อนหางนกยูง(อ.เมืองฯ อ.นาทม) ถือกำเนิดมากว่า 100 ปี เดิมใช้สำหรับฟ้อนบวงสรวงสักการะ เจ้าพ่อหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประทานพรให้มีชัยชนะและแคล้วคลาดจากภยันตราย ในการเข้าแข่งขันชิงชัยต่างๆ โดยเฉพาะในการแข่งขันเรือยาวในเทศกาลออกพรรษา โดยปกติการฟ้อนชนิดนี้จะแสดงท่าฟ้อนบนหัวเรือแข่ง และรำถวายหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งท่าฟ้อนได้ดัดแปลงมาจากการรำไหว้ครูของนักรบ ก่อนออกศึกสงครามในสมัยก่อน โดยรำอาวุธตามที่ตัวเองฝึก คือ รำดาบ รำกระบี่ กระบอง ให้เข้าจังหวะกลองยาว ต่อมาปี 2542 ให้ท่าฟ้อนมีลีลาอ่อนช้อย เหมือนท่านกยูงรำแพน ใช้ประกอบกับดนตรีไทย และดนตรีพื้นเมืองได้อย่างลงตัว และถือว่าเป็นชุดฟ้อนอันสวยงามที่นำมาถวาย และฟ้อนบูชาองค์พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์5.ฟ้อนไทญ้อ(อ.ท่าอุเทน อ.นาหว้า อ.โพนสวรรค์) ซึ่งเป็นชนเผ่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขต อ.ท่าอุเทน นาหว้า และโพนสวรรค์ โดยปกติการฟ้อนไทญ้อจะพบเห็นในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลที่สำคัญเท่านั้น ในเทศกาลสงกรานต์ชาวไทญ้อจะมีการสรงน้ำพระในตอนกลางวัน โดยตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ลงมาตามลำดับ ตั้งแต่วันขึ้น 7 ค่ำ เป็นต้นไป จนถึงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 5 ในตอนกลางคืน หนุ่มสาวชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัด จะจัดทำขบวนแห่ต้นดอกไม้บูชาพระธาตุ โดยนำต้นดอกจำปา(ลั่นทม) ไปบูชาวัดต่างๆ เริ่มจากวัดใต้สุดไปหาวัดเหนือสุด เมื่อเสร็จพิธีแห่ดอกไม้แล้ว จะเป็นช่วงแห่งความสนุกสนานของหนุ่มสาว จะมีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน ดังปรากฏในท่าฟ้อน และ 6.ฟ้อนขันหมากเบ็ง(อ.นาแก อ.วังยาง) ขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของภาคอีสาน คำว่า “เบ็ง” มาจาก “เบญจ” หมายถึงการบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ คือ กกุสันโท โกนาคมโน กัสสโป โคตโม และอริยเมตตรัยโย เล่าต่อๆกันว่าในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้นำขันหมากเบ็งถวายพระพุทธเจ้า ส่วนในปัจจุบันนี้ชาวอีสาน โดยเฉพาะเผ่ากะเลิงใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นท่าฟ้อนรำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการแสดงครั้งนี้ หมายถึงพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูร ได้นำขันหมากเบ็งมาถวายองค์พระธาตุพนม
เมื่อการฟ้อนเสร็จสิ้นทุกชุดแล้ว จึงจะมีการฟ้อนเซิ้งอีสานพร้อมกัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์การฟ้อนเซิ้งอีสาน โดยรวบรวมเอานางรำทั้ง 6 ชุดมารวมกัน และหลังสิ้นสุดเสียงดนตรี เหล่านางรำทั้งหมดจะพากันก้มกราบองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามประทับใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นการจบอย่างยิ่งใหญ่อลังการเรียกเสียงปรบมือจากนักท่องเที่ยวกึกก้อง
โดยค่ำคืนของวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม การไหลเรือไฟ จำนวน 12 ลำ จะเริ่มลอยโชว์กลางสายน้ำโขง เป็นวันที่นักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศ หลั่งไหลมาอย่างคับคั่ง รถทุกชนิดจะมุ่งสู่ถนนสุนทรวิจิตร ริมฝั่งแม่น้ำโขง การจราจรติดขัดเป็นทางยาวนับกิโลเมตร แต่ไม่เป็นอุปสรรคที่ทุกคนตั้งตาเฝ้ารอคอยชมความงามกลางสายน้ำโขง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: