นครพนม – วันที่ 26 ต.ค.61 นายราชันย์ ไชยศิลป์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาการเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าจากข้อมูลที่มีการตรวจพบการระบาดอย่างรุนแรงของโรคพุ่มแจ้ และโรคใบด่างในมันสำปะหลังที่ประเทศกัมพูชา และเวียดนาม กรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เร่งติดตามสถานการณ์การปลูก และศัตรูของมันสำปะหลัง โดยเฉพาะโรคใบด่างในมันสำปะหลัง แม้จะยังไม่มีรายงานการพบการระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศไทย แต่สำหรับโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลังนั้น เกิดการระบาดบริเวณแถบชายแดนไทยแล้ว และพบในหลายพื้นที่ มีมันสำปะหลังแสดงอาการคล้ายโรคพุ่มแจ้ จึงต้องมีการติดตามและตรวจสอบในบริเวณพื้นที่ปลูกอย่างใกล้ชิด
นายราชันย์ฯกล่าวต่อว่า สำหรับในจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดฯ มีคำสั่งเร่งให้เจ้าหน้าที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในระดับจังหวัดและอำเภอ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ร่วมกันลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และตรวจแปลงปลูกมันสำปะหลัง ให้ความรู้แก่เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและแนะวิธีเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง ว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค โดยแมลงชนิดนี้มักจะอยู่ตามพืชอาศัย เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง กะเพรา โหระพา พืชตระกูลพริก มะเขือ และพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น และเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะอาศัยตาม มันสำปะหลัง สบู่ดำ ละหุ่ง และยางพารา เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
- โหดเหี้ยม!หนุ่มถูกมีดฟันยับดับกลางถนน คาดทะเลาะในวงเหล้า
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
“เมื่อโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดการระบาด จะทำให้มันสำปะหลังมีอาการใบด่าง เหลือง ใบเสียรูปทรง และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกร็น สำหรับแนวทางในการแก้ไขป้องกันการระบาด พี่น้องเกษตรกรสามารถทำได้ง่าย เช่น ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์จากต่างประเทศ ควรที่จะต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรค หมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของพืชไวรัส และพืชอาศัยของแมลงพาหะ ในบริเวณแปลงปลูกมันสำปะหลัง และบริเวณใกล้เคียง ถ้าหากเกษตรกรพบมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคใบด่างในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตรใกล้บ้านท่านทันที” นายราชันย์ ไชยศิลป์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาการเกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวในตอนท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: