X

สาวงาม 8 ชนเผ่ารวมใจรำบูชาพระธาตุพนม เนื่องในวันออกพรรษา

นครพนม – สาวงาม 8 ชนเผ่ารวมใจรำบูชาพระธาตุพนม เนื่องในวันออกพรรษาเอวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม บรรยากาศคึกคักของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารอร่วมประกอบพิธีถวายเครื่องบูชาและรำบูชาพระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม ที่พุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้บูชามานานกว่า 2,000 ปี เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะสร้างไว้ตามความเชื่อพื้นถิ่น โดยพระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่มีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางที่เมื่อถึงเทศกาลสำคัญครั้งใด ประชาชนที่ให้ความเคารพสักการะบูชา ก็จะร่วมกันนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายเป็นพุทธบูชาองค์ สำหรับประเพณีรำบูชาพระธาตุพนมนั้นมีมาตั้งแต่การสร้างพระธาตุพนมยุคแรก ๆ แล้วแต่ไม่ได้รำติดต่อกันทุกปี กระทั่ง ปี พ.ศ. 2530 สมัยนายอุทัย นาคปรีชา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้นได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นมาร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ โดยจัดให้มีการรำบูชาพระธาตุพนมที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมในช่วงเช้าและการไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนมในภาคกลางคืน ในวันเดียวกันคือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีอันดีงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล

โดยในปีนี้นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ตลอดจน พ่อค้า ประชาชน คณะฟ้อนรำจากทุกอำเภอของจังหวัดนครพนมและนักท่องเที่ยวร่วมกันแห่เครื่องสัการะบูชามายังบริเวณประตูโขงหน้าวัดพระธาตุพนม จากนั้นทุกคนร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมนำจุดธูปเทียนและกล่าวถวายเครื่องสักการะบูชา กล่าวไหว้พระธาตุ และเมื่อเสร็จพิธีคณะนางรำ จำนวน 500 คน ก็เริ่มรำบูชาเริ่มจากการรำตำนานพระธาตุพนม ซึ่งจะเป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมา แรงศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม โดยการแสดงจะเป็นการนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนมมาผสมผสานกับทำนองสรภัญญะและดนตรีมโหรี จากนั้นเป็นการฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ เพื่อระลึกถึงความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นการผสมผสานระหว่างรำเซิ้งอีสานที่มีความสนุกสนามกับการฟ้อนรำผู้ไทยที่มีเอกลักษณ์ท่ารำ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง ต่อมาคือรำผู้ไทยที่ได้มีการพัฒนาและดัดแปลงมาจากศิลปะการรำที่แสดงในงานเทศกาลที่สำคัญต่าง ๆ คือการรำขอฝนจากพญาแถนให้ตกถูกต้องตามฤดูกาล การรำสมโภชงานบุญมหาชาติ ซึ่งจะมีความสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการหยอกล้อของหนุ่มสาวที่มีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยรำหางนกยูง ที่มีการดัดแปลงท่ารำมาจากการรำไหว้ครูของนักรบสมัยก่อน แต่ให้มีความอ่อนช้อยงดงามเหมือนท่านกยูงรำแพน รำไทญ้อ เป็นการร่ายรำที่แสดงออกถึงการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี และสาดน้ำกันของหนุ่มสาว และรำขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นการรำถวายเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากใบตอง มีลักษณะเป็นพานพุ่ม ประกอบไปด้วยเครื่องบูชา 5 อย่างๆ ละ 5 คู่ ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอก และดอกไม้ และในขั้นตอนสุดท้ายนางรำทุกคนออกมารำในชุดรำเซิ้งอีสาน ซึ่งในการรำชุดนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีสามารถรำถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน