นครพนม – วันที่ 4 พ.ย.61 เวลา 15.00 น. บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าเดนหวั่วโองมู้ (ศาลบรรพบุรุษชนเผ่าไทยแสก” หมู่5,6 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม นายสุวิทย์ มีมา กำนันฯ นายประถม อ่อนหวาน ปราชญ์ชาวบ้าน ข้าราชการครูบำนาญ และ นางวรนุช กรุงเกตุ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ นายเอกราช มณีกรรณ์ นายอำเภอเมืองนครพนม และคณะนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนชนเผ่าไทยแสก ในพิธีเปิด “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP village 8 เส้นทาง)”
นางวรนุชฯกล่าวว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งผลประชาชนในชุมชนมีความรักสามัคคีกลมเกลียว จึงเกิดการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวฯ รวม 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน โดยให้จัดอยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน และทรัพยากรที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เพื่อสร้างเป็นรายได้แก่ประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- นรข.เขตนครพนม มอบผ้าห่ม สร้างความอบอุ่นให้ชาวบ้าน
- ท่องเที่ยวฯ - ท.เชียงราย จัดกิจกรรม “Coffee or tea ฮับชาหรือกาแฟดีจ้าว” กระจายรายได้สู่ชุมชน
- เมียนายกก้อย “ขวัญกมล ฉายแสง” จ่อยึดเก้าอี้นายกเทศบาลเมืองแปดริ้ว
- "ผู้ว่าฯ นครพนมนำทีม! ปลูกผักสวนครัวสู่ความมั่นคงทางอาหาร แนวพระราชดำริ 'THE CONCEPTS OF CHANGE FOR 5 G'"
และที่สำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP village) จำนวน 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน จำเป็นต้องสร้างความเป็นต้นแบบ การพัฒนาและสร้างการเชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวกับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้จากคนในชุมชน
จังหวัดนครพนมจึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP Village) 8 เส้นทาง ในกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อประกาศเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าหมู่บ้าน เกิดการสร้างรายได้ในชุมชน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 9 หมู่บ้าน จาก 7 อำเภอ ซึ่งบ้านอาจสามารถ หมู่ 5 และ หมู่ 6 นี้ เป็นหนึ่งใน 9 หมู่บ้านเป้าหมาย ที่มีกิจกรรมการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนใกล้เคียง มีการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไทยแสก ณ ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทยแสก ดื่มด่ำและสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงามริมแม่น้ำโขง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกการล่องเรือชมวิถีชีวิตของคนแถบลุ่มน้ำโขง หรือปั่นจักรยานเลียบชายโขง และชิมอาหารพื้นถิ่นที่เป็นเคล็ดลับสุดยอดของขนเผ่าไทยแสกคือ”เมี่ยงตาสวด” พร้อมสนุกสนานกับการเล่นพื้นเมืองที่เลื่องลือ เรียกว่า”แสกเต้นสาก” อีกทั้งสินค้าโอทอปเช่น ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ตุ๊กตาพื้นเมืองทำด้วยมือ แสดงเอกลักษณ์การแต่งกายของชนเผ่า มีขนาดกระทัดรัด เป็นความภาคภูมิใจ ในผลงานที่เกิดจากความคิดประดิษฐ์สร้างของผู้ทำที่เป็นลูกหลานชนเผ่าแสก จึงเหมาะจะเป็นของฝากสำหรับแขกผู้มาเยือนนครพนม ส่วนอาหารประจำถิ่น ที่นักท่องเที่ยวให้การยอมรับคือ”ปลาจุ่มรสเลิศ” รสชาติกลมกล่อมจากสมุนไพรในน้ำซุป มีน้ำจิ้มสูตรดั้งเดิม แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งเหล่านี้คือเสน่ห์วิถีชุมชนของหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว
ชนเผ่าไทยแสก คือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ชายแถบเมืองรองเช่น เมืองเว้ (คำว่า“แสก” หมายความว่า “แจ้ง หรือ สว่าง” เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร ไม่ได้มีเชื้อสายของเวียดนามอย่างที่หลายคนเข้าใจ) ต่อมาเวียดนามพยายามเข้าครอบครอง จึงรุกรานชาวไทยแสกด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ นานา จนทำให้ชนไทยแสกต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม แต่ยังมีชาวไทยแสกบางกลุ่มแข็งข้อ จึงรวบรวมพรรคพวกอพยพลงมาทางตอนใต้ ลัดเลาะป่าเขาที่กันดารมาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ใกล้กับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว (บ้านหม้อเตลิง, บ้านทอก, ท่าแค และบ้านโพธิ์ค้ำ)
ส่วนชาวไทยแสกอีกกลุ่มที่อพยพมาจากเมืองแสก พาครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ “บ้านโคกยาว” (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม) ต่อมาได้ขยับขยายบ้านเรือน โดยย้ายจาก “บ้านโคกยาว” มาอยู่ที่บ้าน “ป่าหายโศก” (ปัจจุบันคือ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม)
ในสมัยพระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) เจ้าเมืองยโสธร ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนมอยู่ด้วย พิจารณาเห็นว่าชาวไทยแสกมีความสามารถ มีความรักสามัคคี และเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชาวไทยแสกที่อยู่ที่ ป่าหายโศก ให้เป็น “กองอาทมาต” ทำหน้าที่เป็น “สายลับ” หรือ “หน่วยสืบราชการลับ” ลาดตระเวนชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง สืบข่าวความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามส่งให้เจ้าเมืองทราบทุกระยะ(คำว่า “อาทมาด, อาทมาฏ, อาตมาท, อาทมารถ, หรืออาจสามารถ” เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในด้านการฟันดาบ โดยเฉพาะการต่อสู้บนหลังม้า)
ปัจจุบันชนเผ่าไทยแสก มีชุมชนใหญ่อยู่ที่ ต.อาจสามารถ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม 6 กิโลเมตร และยังมีไทยแสกบางกลุ่มอพยพโยกย้ายที่อยู่ไปทำมาหากินถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม และรวมทั้งเขต สปป.ลาว ดังนี้คือ 1.บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า 2. บ้านดอนสมอ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม และ 3. บ้านโพธิ์คำ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว
ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวแสก คือ “กินเตดเดน” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อ “โองมู้” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยแสกเคารพนับถือ โดยโองมู้จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ “ผู้บ๊ะ” (บนบาน) สมปรารถนา
โดยมีการ “กวนจ้ำ” เพื่อเป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าภายหลังลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ดีงาม หรือไม่มีพิธีกรรม “เก่บ๊ะ” (พิธีแก้คำบนบาน) ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว
ในพิธีบวงสรวงโองมู้ จะมีการแสดง “แสกเต้นสาก” ถือว่าเป็นการละเล่นประจำชนเผ่า จะมีขึ้นเฉพาะพิธีบวงสรวงโองมู้ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเท่านั้น การแสดงแสกเต้นสากถวายโองมู้นี้ อดีตใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นก็คือไม้สากกะเบือ ที่ใช้ตำข้าวในสมัยโบราณ ลักษณะยาวประมาณ 2 เมตร ตรงกลางเรียวเล็ก ใช้เคาะจังหวะประกอบการเต้น ร่วมกับดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ และพังฮาด ที่มีลักษณะคล้ายฆ้อง ตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม
ปัจจุบันชาวบ้านเลิกใช้สากตำข้าว จึงพัฒนามาเป็นไม้ชนิดอื่นที่สมมติว่าเป็นไม้สากตำข้าว แม้เส้นเสียงจะไม่หนักแน่นเหมือนสากกะเบือยักษ์ แต่ความไพเราะก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเต้นจะคล้ายๆ กับรำลาวกระทบไม้ แต่จังหวะการเต้นจะเร็วกว่า มีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นคู่ ซึ่งเป็นการแสดงที่นักท่องเที่ยวชื่นชม เพราะแสดงถึงความสามัคคีของผู้แสดงทั้งคนเต้นและคนเคาะไม้นั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: