X

ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนนครพนม สั่งเพิ่มความเข้มด่านตรวจ

นครพนมม – ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนนครพนม สั่งเพิ่มความเข้มด่านตรวจ ด่านชุมชน พร้อมแนะกรณีศึกษารถบิ๊กไบค์

วันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 และประชุมร่วมกับนายอำเภอผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล เพื่อร่วมกันหารือ วิเคราะห์ปัญหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และวางแนวทางมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา อุบัติเหตุในพื้นที่ ซึ่งตลอดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งสิ้น 8 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย และเสียชีวิต 1 ราย แม้เจ้าหน้าที่จะมีการเรียกตรวจตาม 10 มาตรการหลักในการบังคับใช้กฎหมาย มากถึง 17,817 คัน และมีผู้ถูกดำเนินคดี 3,055 คน

ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในถนนสายรองและถนนในชุมชน โดยเป็นรถจักรยานยนต์ที่ผู้ขับขี่ขับขี่ด้วยความเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย มีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และทุกอุบัติเหตุไม่มีคูกรณี ดังนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มความเข้มงวดในการใช้ 10 มาตรการหลักทางกฎหมาย รวมถึงการเรียกตรวจและแจ้งเตือนให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในส่วนของชุมชนที่ปัจจุบันพี่น้องประชาชนกลับมาอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่แล้ว คาดว่าจะมีการสังสรรค์ในครอบครัวและอาจมีการใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ ดังนั้นจึงให้แต่ละอำเภอพิจารณาเพิ่มเติมด่านชุมชน ในจุดที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อเป็นการป้องปรามและห้ามไม่ให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ตลอดจนผู้ที่ไม่พร้อมในการขับขี่ออกไปใช้รถใช้ถนนได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งกับตนเองและประชาชนทั่วไป รวมถึงให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนเรื่อย ๆ ถึงมาตรการที่ออกมา เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชน

นอกจากนี้ยังได้ยกกรณีศึกษาที่อำเภอปลาปาก ซึ่งเป็นการขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในพื้นที่ชุมชน ที่สภาพถนนเป็นทางตรงระยะสั้นๆ และทางเลี้ยวที่ไม่ได้รับแรงเฉื่อยในการขับขี่เท่าถนนสายหลักและสายรอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต แม้ผู้ขับขี่จะมีการสวมหมวกนิรภัย ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่ชินกับเส้นทาง โดยได้มอบให้แต่ละอำเภอเพิ่มแนวทางในการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็น การเรียกตรวจ การแจ้งเตือนการขับขี่ เพื่อให้เพิ่มความระมัดระวังและลดความเร็วการขับขี่ในการใช้เส้นทาง ส่วนกรณีที่มีเยาวชนอายุ 19 ปี ขับขี่รถจักยานยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุ ก็ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายถึงผู้ที่ส่งเสริมและผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนรายนั้นด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน