นครพนม – หมู่บ้านสุดแปลกในนครพนม แปรรูปตุ๊กแก ปลิง ไส้เดือนตากแห้ง ส่งจีนตลาดใหญ่นักเปิบพิสดาร พบประวัติเป็นยารักษาโรคเกือบ 1,000 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ชาวบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ซึ่งเกือบทุกหลังคาเรือนจะประกอบอาชีพที่สุดแปลกหมุนเวียนตามฤดูกาล และถือเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยอาชีพที่กล่าวข้างต้นบางคนได้ยินอาจขนลุกขนพอง ได้แก่อาชีพทำตุ๊กแก ปลิง และไส้เดือนตากแห้ง ส่งขายต่างประเทศ อาทิ จีน ไต้หวัน โดยมีคติความเชื่อว่าปรุงเป็นยาชูกำลัง ซึ่งมีออเดอร์สั่งปีหนึ่งๆ นับรวมแล้วกว่า 100 ตัน
ประเทศไทยหนึ่งปีมี 3 ฤดู หมู่บ้านนี้ก็จะมีสินค้าแปลกแปรรูปครบทุกฤดูเช่นกัน คือ ฤดูแล้งนำตุ๊กแกมาชำแหละตากแห้ง ฤดูฝนจะเป็นปลิงตากแห้ง ส่วนฤดูหนาวก็จะเป็นคิวไส้เดือนตากแห้ง โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อสต็อกไว้ส่งขาย เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ เงินหมุนเวียนสะพัดปีละกว่า 100 ล้านบาท
ช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน จะเริ่มนำไส้เดือนมาแปรรูปตากแห้ง แต่เดิมชาวบ้านจะออกไปขุดไส้เดือนตามพื้นที่การเกษตร รวมถึงรับซื้อจากชาวบ้านที่นำมาขาย
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
จากสถานการณ์โควิดระบาด ตั้งแต่ต้นปี 2563 การส่งออกตุ๊กแก ปลิง และไส้เดือนตากแห้งพลอยได้รับผลกระทบทำให้รายได้ลดลง แต่ระยะหลังเริ่มผ่อนคลายกฎเหล็กลงมาบ้างทำให้สามารถส่งออกขายได้ ดังนั้นชาวบ้านหลังว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ จะหันมาทำอาชีพแปลกเสริมกัน โดยฤดูหนาวก็แปรรูปไส้เดือนตากแห้ง
นางนพมาศ วงษาเนาว์ หรือเอ๋ อายุ 38 ปี บ้านเลขที่ 141 หมู่ 8 ซอยดอนดู่ บ้านตาล ต.นาหว้า เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าชาวบ้านตาลมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล สืบทอดกันมากว่า 30 ปี หลังมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปติดต่อกับพ่อค้าชาวจีน และไต้หวัน เพื่อจัดหาไส้เดือน ปลิง ตุ๊กแกแปรรูปส่งขายตามฤดูกาล โดยจะมีทั้งคนในหมู่บ้านออกไปรับซื้อ และนำมาแปรรูปเอง รวมถึงเป็นพวกนายหน้ารับซื้อไส้เดือนสดมาขายต่อให้ชาวบ้านจัดการแปรรูป โดยไส้เดือนที่นำมาแปรรูปในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1.ตัวสีแดง คุณลักษณะพิเศษตัวจะหนา และ 2.ตัวสีเขียวจะบางกว่าสีแดง ซื้อสดๆมากิโลกรัมละ 28 บาท ไส้เดือนสด 100 กิโลกรัม หลังแปรรูปตากแห้งจะเหลือ 8-9 กิโลกรัม ส่งขายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท โดยไส้เดือนล็อตนี้ไปรับซื้อจากชาวบ้านในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร หรืออุบลราชธานี ส่วนหน้าฝนจะรับซื้อจากประเทศลาว แต่ตัวจะเล็กและบางกว่า 2 ชนิดแรก
น.ส.เอ๋เล่าต่อว่าจากนั้นจะนำมาผ่านขั้นตอนการแปรรูป ที่เคยทำสืบทอดกันมา ด้วยการชำแหละเอาดินออก แล้วนำไปแช่ล้างด้วยน้ำเปลือกไม้ประดู่ให้สะอาด ก่อนนำไปตากแดดจนแห้ง โดยการแปรรูปไส้เดือนต้องลงมือทำตั้งแต่กลางดึก เพื่อให้ทันแดดออกในตอนเช้า บ่ายๆ ก็เก็บส่งขายได้เลย ปีนี้ทางประเทศจีนสั่งออเดอร์มาจำนวน 20 ตัน “ชาวบ้านสร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท บางครอบครัวขยันทำเงินได้เดือนละเป็นแสน ถ้าได้วัตถุดิบทำก่อนฤดูกาล ก็สามารถทำเงินได้มากกว่าทุกปี”นางนพมาศ กล่าว
สำหรับราคาส่งขายพ่อค้าคนกลาง ไส้เดือนตากแห้ง ราคากิโลกรัมละ 450-500 บาท แต่ละปี ตุ๊กแกแปรรูปราคาตามขนาด ประมาณตัวละ 40 -50 บาท ส่วนปลิงตากแห้งกิโลกรัมละ 2,000 บาท แต่ละปีจะมีรายได้หมุนเวียนจากอาชีพนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ครอบครัวผู้ประกอบอาชีพแปลกเหล่านี้ จึงสามารถทำเงินได้เดือนละ 40,000 – 50,000 บาท ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตโควิด ชาวบ้านอาชีพแปลกบางรายแบกภาระหนี้สิน ต้องหาอาชีพอื่นมาชดเชยเป็นการประทังไปพลางก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไส้เดือนดิน หรือไส้เดือน รากดิน หรือโท้วเล้ง ตี่เล้ง (จีน-แต้จิ๋ว) มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า การใช้ไส้เดือนเป็นสมุนไพรนั้น ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี พ.ศ.1833 หรือกว่า 700 ปีผ่านมา หมอโบราณทั้งในประเทศอินเดียและพม่า ได้ใช้ไส้เดือนรักษาโรคหลายชนิด เช่นชาวพม่าใช้ไส้เดือนรักษาโรคที่มีชื่อเป็นภาษาพม่าว่าเยเซคุนเปียว ซึ่งมีอาการที่น่าจะเป็นโรคหนองไหล โดยนำไส้เดือนไปอบในหม้อดินที่ปิดฝาสนิท จนกระทั่งแห้งเป็นเถ้า นำเถ้าเหล่านี้ไปใช้เป็นยาสีฟัน หรือผสมกับเมล็ดมะขาม และหมากลงที่คั่วแล้ว เพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น แล้วนำไปกิน
สำหรับโรคอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า เมนมา มีฟวาโนยีคุนทเวขาน นั้น ผู้หญิงที่เป็นโรคจะรู้สึกอ่อนเพลียหลังการออกลูกและไม่อาจให้นมลูกกินได้ ก็นำไส้เดือนไปต้มในน้ำที่ใส่เกลือและหัวหอมจนสุก แล้วเทน้ำใสลงผสมในอาหารของผู้ป่วย
และจากเอกสารที่ฝรั่งเขียนเล่าถึงอาหารพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ได้จากแมลงและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2475 มีข้อความที่ระบุว่า ในประเทศพม่าและลาวนั้น ได้มีการใช้ไส้เดือนรักษาโรคฝีดาษโดยการนำไส้เดือนไปแช่น้ำแล้วให้คนป่วยอาบน้ำแช่น้ำ จากนั้นก็นำไส้เดือนไปคั่ว ป่นจนเป็นผง ผสมกับน้ำมะพร้าวแล้วดื่ม ยาตำรับนี้ช่วยทำให้การออกฝีดาษเกิดเร็วขึ้น และลดอัตราการตายจากโรคลงเหลือเพียง 1 ใน 4
ส่วนในประเทศอิหร่าน ถึงกับยกย่องให้ไส้เดือนเป็นยอดสมุนไพรประเภทครอบจักรวาล เพราะรักษาโรคได้สารพัด เช่น นำไปอบแล้วกินกับขนมปัง เพื่อช่วยลดขนาดของนิ่วในถุงน้ำดี และช่วยขับก้อนนิ่วออก หรือไม่ก็ตากแห้งแล้ว กินเพื่อรักษาอาการเหลืองซีดที่เกิดจากโรคดีซ่าน นอกจากนั้นยังอาจอบให้กลายเป็นเถ้า แล้วนำไปผสมกับน้ำมันกุหลาบใช้ทาหัวล้าน เพื่อให้ผมงอกดกดำอย่างเดิม
สำหรับในเมืองไทย ได้มีการใช้ไส้เดือนเป็นสมุนไพรมาช้านาน จนถึงกับมีปรากฏในตำราแพทย์แผนโบราณหลายเล่ม ดังที่ปรากฏใน “ตำราเภสัชศาสตร์แผนโบราณ” ซึ่งจัดพิมพ์โดยโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ เมื่อปี 2507 ว่า “รากดิน 4 รสเย็นคาว แก้ไขพิษไข้กาฬ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน แก้ปากเปื่อย แกฝีในลำคอ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ปวดฝี และหัวลำมะลอก แก้โรคอันเกิดจากกระดูกแก้พิษฝีดาษ”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: