X

เกษตรกรนครพนม ร่วมวิจัยข้าวเหนียวหอมนาคากับไบโอเทค

นครพนม – เกษตรกรนครพนม ร่วมวิจัยข้าวเหนียวหอมนาคากับไบโอเทค หวังขับเคลื่อนสู่ตลาด BCG

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายรัฐพล โพธิ์นิยม เปิดเผยว่า ตนเองเป็นคนนครพนมอยู่ที่บ้านยอดชาด ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง ซึ่งเดิมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และทำงานภาคเอกชนมาโดยตลอด พอเจอปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ก็เลยกลับมาอยู่บ้าน โดยก่อนที่จะกลับมาได้คุยกับเพื่อนซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือที่เรียกง่ายๆว่า สวทช. อยู่ในส่วนของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาในเรื่องของพันธุ์ข้าว ในระดับโมเลกุลพันธุ์ข้าวหรือยีน ว่าอยากได้พันธุ์ข้าวเหนียวไปปลูกทดลองที่บ้าน จึงได้รู้จักกับข้าวหอมนาคาที่ทางศูนย์ฯ กำลังวิจัย โดยข้าวพันธุ์นี้จะปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เนื่องจากตัวคุณสมบัติของข้าวเองเป็นข้าวประเภทไม่ไวแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 – 140 วัน ผลผลิตเฉลี่ยในฤดูนาปีประมาณ 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ โดยคุณสมบัติเด่นของข้าวคือ เหนียวนุ่มเหมือนข้าวเหนียว กข 6 มีกลิ่นหอม สามารถทนน้ำท่วมฉับพลันได้ 10 วัน สามารถทนแล้งได้ หรือจะเรียกว่าข้าวสะเทินน้ำสะเทินบกก็ได้ ที่สำคัญคือต้นไม่สูงมากทำให้เวลาเก็บเกี่ยวจะไม่ล้ม โดยต้นจะสูงเต็มที่ประมาณ 125 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการต้านทานโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นโรคพื้นถิ่นทางอีสานและโรคขอบใบแห้ง สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้คุยกับทาง ไบโอเทค ว่าเราจะทดสอบในพื้นที่อย่างน้อย 2 ปี หรือ 4 ฤดู จากนั้นจึงได้ประสานกับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม เพื่อขออนุญาตินำพันธุ์ข้าวเข้ามาปลูกทดสอบในเขตจังหวัดนครพนม ซึ่งทางหน่วยงานเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรจึงอยากให้ทดลองครบทั้ง 12 อำเภอ จึงเป็นที่มาของการหาตัวแทนเกษตรกรแต่ละอำเภอมาปลูกเพิ่มเติมด้วย และถ้าเกิดความเหมาะสมในพื้นที่แนวทางต่อไปทางไบโอเทค จะมีการเข้ามาส่งเสริมพัฒนากลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานตามระเบียบของกรมการข้าว รวมถึงจะพัฒนาต่อยอดออกไปอีกว่าจะสามารถแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง จากความหอมของข้าว จากความนุ่มของข้าว เช่น พัฒนาเป็นเครื่องสำอางได้ไหม เป็นขนมได้ไหม หรือแม้กระทั่งในเรื่องของฟางข้าวที่อยู่ในพื้นนาก็จะหาเครื่องมือมาช่วยเกษตรกรอัดฟางให้เป็นเม็ดเพื่อให้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะมีการต่อยอดตามนโยบาย Bio Circular Green Economy หรือ BCG ของรัฐบาลที่เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย

ด้าน นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับการประสานงานจากทีมงานของไบโอเทคว่าจะมีการนำข้าวเหนียวหอมนาคา มาปลูกทดสอบในพื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องของข้าวเหนียว กข 6 ที่เกษตรกรปลูกอยู่ เนื่องจากข้าว กข 6 มีปัญหาในเรื่องของการไม่ทนน้ำท่วมแล้วก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไหม้ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นที่น่าสนใจ เพราะสามารถแก้ปัญหาได้หมด ผลผลิตสูง รวมถึงเคยได้ประสานงานกับ ดร.ปัทมา ศิริธัญญา ซึ่งเคยทำงานด้วยกันเคยเอาพันธุ์ข้าวจากไบโอเทคมาทดสอบ ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นพันธุ์ข้าวธัญสิรินและทราบว่าข้าวที่นำมานี้เป็นพันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาจากพันธุ์ข้าวธัญสิริน จึงได้ประสานขอพันธุ์ข้าวเพิ่มเพื่อมาให้เกษตรกรจังหวัดนครพนมได้ทดลองปลูก โดยจะคัดเลือกเกษตรกรที่เป็นผู้นำ ที่เคยได้ไปสัมผัสว่าเป็นคนหัวไว ใจสู้ กล้าที่จะทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ มั่นใจว่าเขาเอาไปทำจริง เพราะเป็นงานวิจัยที่ทางไบโอเทคก็ต้องการที่จะทราบข้อเท็จจริง คนที่จะมาทำจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อให้ผลที่ออกมามัน เป็นข้อเท็จจริง ว่าได้ หรือเสีย มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ซึ่งในทุกขั้นตอนจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ดูแล เก็บข้อมูลตลอด ซึ่งจากการทดลองปลูกในรอบนาปีที่ผ่านมา ได้ยินเสียงตอบรับว่าพันธุ์ข้าวนี้เป็นที่พึงพอใจของพี่น้องเกษตรกร ก็ได้มีการนำข้อมูลเข้าที่ประชุมพาณิชย์จังหวัด เพื่อให้ส่วนราชการ โรงสี และภาคเอกชนได้รับรู้ก่อน ว่าเรากำลังทดลองข้าวเหนียวหอมนาคาอยู่ จะได้ร่วมกันพิจารณาและปรับทิศทางในการส่งเสริมต่อไปในอนาคต

ขณะที่นายปัญญา สรรหา ซึ่งเป็น 1 ในเกษตรกรอำเภอท่าอุเทนที่ร่วมทดลองปลูกข้าวหอมนาคา เปิดเผยว่า ตนเองได้ยินข่าวว่าข้าวหอมนาคาเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ ก็สนใจเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆให้ จึงอยากทดลองปลูก เพราะอันเก่าเราก็ปลูกซ้ำซากมาหลายครั้งแล้ว ตอนแรกไปขอต้นกล้ามา 21 มัดจากแปลงที่เหลือของผู้นำ ซึ่งก็ปลูกได้เกือบ 1 งาน ผลผลิตที่ได้อยู่ประมาณ 7 กระสอบ ๆ ละ 29-30 กิโลกรัม รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 200 กว่ากิโลกรัมซึ่งถือว่าได้มากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยปลูกมาเกือบเท่าตัว และจากการสังเกตพบว่าต้นข้าวสามารถแตกกอได้เป็นอย่างดีกว่าพันธุ์อื่นๆ จาก 1 ต้น เป็น 5-6 ต้น โดยจะเริ่มแตกกอตั้งแต่ต้นข้าวสูงประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งในรอบที่ 2 นี้ ตนเองได้มีการทดลองปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 5 ไร่ โดยนำข้าวที่ได้จากรอบที่แล้วมาเป็นพันธุ์เพาะปลูก รวมถึงให้เพื่อนเกษตรกรคนอื่น ๆ นำไปปลูกทดลองด้วยอีก 2 กระสอบ เพราะอยากให้คนอื่น ๆ ได้ทดลองด้วย ซึ่งในความคิดของตนเองนั้นมีความพึงพอใจและมั่นใจว่าข้าวหอมนาคาดีกว่าพันธุ์อื่นที่ได้ปลูกมาเพราะให้ผลผลิตที่สูงกว่าในราคาที่ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน