นครพนม – ร.3 พัน. 3 บวงสรวงดวงวิญญาณ “พระยอดเมืองขวาง” วีรบุรุษ ร.ศ.112 พ่อปู่ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม ว่า พ.ท.ศรณณัฐ นวลมณี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 (ผบ.ร.3 พัน.3) คุณจิตติมา นวลมณี ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ.สาขา ร.3 พัน.3 นำกำลังพล พร้อมชมรมข้าราชการบ้านพระยอดเมืองขวางและครอบครัว ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ผู้นับถือและศรัทธาต่อท่านพระยอดเมืองขวาง เพื่อประกอบพิธีสักการะและบวงสรวง รำลึกถึงคุณความดีของพระยอดเมืองขวาง อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ สมัยรัชกาลที่ 5(ร.ศ.112) ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันอธิปไตย ไว้เป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังจดจำ
ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ช่วงเช้าร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พระยอดเมืองขวางและเหล่าทหารกล้าผู้วายชนม์ ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง จากนั้น พ.ท.ศรณณัฐ นวลมณี ผบ.ร.3 พัน.3 ได้นำคณะข้าราชการ,ข้าราชการบำนาญและครอบครัว ประกอบพิธีสักการะบวงสรวงศาลปู่พระยอดเมืองขวาง และเจ้าพ่อหลวงโพธิ์ ที่อยู่ด้านหลังค่ายฯ โดยมีคุณจิตติมา นวลมณี ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 เป็นผู้นำการรำบวงสรวง ก่อนจะร่วมวางพวงมาลาสักการะ ณ อนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง ที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าค่ายฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล
ประวัติการตั้งค่ายพระยอดเมืองขวาง ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม เดิมชื่อค่ายนาโพธิ์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ประหลาด มีฟ้าผ่าลงมาตรงกลางป้ายเป็นเหตุให้ป้ายแยกออกเป็น 2 ซีก จึงทำป้ายขึ้นมาเปลี่ยนใหม่ แต่ก็ยังเกิดเหตุเช่นเดิมอีก กระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “ค่ายพระยอดเมืองขวาง” เหตุการณ์ประหลาดก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย
ข่าวน่าสนใจ:
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
- "นครพนมฮือฮา! งานศพสุดแปลก ใส่ชุดแดงฟ้อนรำส่งดวงวิญญาณ ‘เจ้แข่น’ ปิดตำนานสาวสองแห่งอำเภอนาทม
- น้องขวัญ นายก อบจ.นครพนม ลาออก ก่อนครบวาระ 3 วัน จ่อลงชิงป้องกันแชมป์
ต่อมามีนายทหารยศพลเอกท่านหนึ่ง ฝันเห็นชายใส่ชุดไทยเหมือนคนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดาบ กระบี่ ใส่หมวกบานอันใหญ่บอกว่าท่านคือพระยอดเมืองขวาง ต้องการให้ตั้งศาลสถิตไว้ในค่ายแห่งนี้ เนื่องจากวิญญาณไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเร่ร่อนไปมาระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และค่ายพระยอดเมืองขวาง จึงร่วมกับข้าราชการทหารตั้งศาลจนเสร็จเรียบร้อย ก็ได้อัญเชิญดวงวิญญาณพระยอดเมืองขวางมาสถิต ณ ศาลแห่งนี้ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าทหารในค่ายพระยอดเมืองขวาง ตลอดจนประชาชนที่อยู่รอบค่ายให้ความเคารพนับถือ จะเข้ามากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ
ส่วนประวัติของพระยอดเมืองขวาง บันทึกว่าเป็นข้าราชการในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยะมหาราช) รัชกาลที่ 5 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองชายพระราชอาณาเขต คือ เมืองคำม่วน(แขวงคำม่วน สปป.ลาว ในปัจจุบัน) เมื่อครั้งยังอยู่ในการปกครองของแผ่นดินสยาม โดยได้ปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็ง
กระทั่ง ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ฝรั่งเศสชาติมหาอำนาจในยุคนั้น ได้กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางกับพวก ได้ร่วมกันทำร้ายนายทหารฝรั่งเศสกับคณะถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ ฝรั่งเศสดำเนินการให้ฝ่ายไทยนำพระยอดเมืองขวางขึ้นศาลฟ้องร้องและถูกลงโทษ
จากกรณีที่พระยอดเมืองขวางถูกกล่าวหานั้น ความจริงท่านต่อสู้เพื่อป้องกันดินแดน เนื่องจากชาวฝรั่งเศสชื่อมองซิเออร์ลุซ คุมทหารเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำม่วน หัวเมืองด่าน ปลายพระราชอาณาเขตสยามด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีพระยอดเมืองขวาง เป็นข้าหลวงรักษาเมือง
ในการพิจารณาคดีครั้งแรกศาลมีคำพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้องและให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับนายลาเนสซังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คนเดินทางมาจากไซ่ง่อน(เวียดนาม)และสยามอีก 2 คน โดยเปิดศาลพิจารณาคดีเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2437 และตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศสทั้งหมด พระยอดเมืองขวางต้องถูกจองจำอยู่นานถึง 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2441 (คดีนี้ภายหลังกลายเป็นต้นกำเนิดของการปฏิรูปศาลไทยของสยามประเทศในยุควิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในเวลาต่อมา)
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท และพระยอดเมืองขวางยังได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ ต่อมาได้ล้มป่วยและเสียชีวิตใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) รวมสิริอายุได้ 48 ปี โดยท่านเป็นต้นสกุล “ยอดเพ็ชร์” และ “กฤษณมิตร”
ด้านกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2497 มีชื่อเดิมว่า กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 6 ต่อมาแปรสภาพเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมแผนที่ 6 และปรับโอนการบังคับบัญชาเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2518 เปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มีที่ตั้งอยู่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ภายหลังย้ายที่ตั้งหน่วยจากค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ มายังที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บ้านนาโพธิ์ ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2514 ดังนั้นจึงยึดถือเอาทุกวันที่ 22 เมษายน เป็นวันสถาปนาหน่วยอีกด้วย
ปัจจุบัน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มี พ.ท.ศรณณัฐ นวลมณี เป็นผู้บังคับกองพัน โดยภารกิจหลักของ ร.3 พัน.3 คือ เข้าประชิดข้าศึกโดยใช้อำนาจการยิง และการดำเนินกลยุทธ์เพื่อจับหรือทำลายข้าศึก ผลักดันการเข้าตีของข้าศึกด้วยการยิงและการรบประชิด
โดยกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3(ร.3 พัน.3) มีวิสัยทัศน์ เป็นหน่วยที่มีความพร้อม มีศักยภาพ และทันสมัย ในการรักษาความมั่นคง ช่วยเหลือประชาชน และรักษาสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นฐานของความจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: