นครพนม – วันที่ 7 พ.ย.61 เวลา 11.00 น. บริเวณลานอเนกประสงค์ หน้าพระธาตุวัดสำราญใต้ หมู่ 2 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม นายเอกราช มณีกรรณ์ นายอำเภอเมืองนครพนม นายสัญญ จันทโคตร นายก อบต.อาจสามารถ นางรัตชวรรณ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอเมืองฯ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อส่งเสริมการตลาดชุมชนฯ โดยมีนายปริตถกร สุวรรณวงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และ นายสุบรรณ คำบัว ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวต้อนรับ พร้อมเล่าประวัติความเกี่ยวพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม
นายปริตถกรฯกล่าวว่าโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นโครงการน้องใหม่ที่เกิดขึ้นปี 2561 ภายใต้การดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ในรูปแบบใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นการนำสินค้าในชุมชนออกไปขายข้างนอก สำหรับแนวคิดแบบใหม่นี้ เน้นการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิดพัฒนาชุมชนตนเอง โดยวางสินค้าจำหน่ายในชุมชน นำเอาเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาแปลงเป็นรายได้ สร้างชุมชนของตนให้เข้มแข็ง พร้อมจะเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลูกหลานไม่ต้องออกไปหารายได้ข้างนอก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม จัดกิจกรรมปั่นจักรยานชายโขงทุกวันอาทิตย์ ส่งเสริมการปั่นจักรยานออกกำลังกาย กระตุ้นให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- ตม.สระแก้วสนธิกำลังจับคนไทยลักลอบนำชาวจีน 7 คน เวียดนาม 1 คน หลบหนีเข้าเมืองพื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
- จับคาหนังคาเขา! ตำรวจท่องเที่ยวกระบี่บุกรวบ 2 ชาวปากีสถาน ลักลอบทำงาน
- นครพนม รวมใจทำบุญตักบาตร ทุกวันพระ สืบทอดประเพณี ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ด้านนายสุบรรณปราชญ์ชาวบ้านกล่าวเพิ่มเติมว่า ตำบลอาจสามารถมีอยู่ 3 ชนเผ่า คือทิศเหนือบ้านห้อมเป็นไทยญ้อ เลาะลงมาบ้านสำราญเป็นชนเผ่าไทยลาว และบ้านอาจสามารถเป็นเผ่าไทยแสก จึงมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม จุดเด่นของบ้านสำราญคือเป็นหมู่บ้าน ที่มีประวัติเกี่ยวพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม เช่น พระติ้ว พระเทียม อดีตสร้างขึ้นที่บริเวณวัดแห่งนี้ และประดิษฐานในโบถส์วัดสำราญนานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานในมณฑปวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม จนถึงปัจจุบัน นอกจาก พระติ้ว พระเทียม ยังมีเจ้าพ่อหมื่นซึ่งเสมือนผู้ปกปักรักษาดูแลลูกหลานบ้านสำราญ ก็ถูกอัญเชิญไปในคราวเดียวกัน โดยตั้งศาลเจ้าพ่อหมื่นอยู่ในวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ต่อมากลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพศรัทธา จึงมีงานงิ้วเจ้าพ่อหมื่นประจำทุกปี แต่ชาวบ้านสำราญมีความเชื่อว่าเจ้าพ่อหมื่นท่านจะไปๆมาๆ ระหว่างศาลริมแม่น้ำโขงบ้านสำราญกับศาลเจ้าในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
ภายในวัดสำราญมีพระธาตุเก่าแก่ เชื่อกันว่าสร้างในยุคเดียวกับพระธาตุพนม มีการขุดพบใบเสมาโบราณ จารึกอักษรขอม ระบุปีที่สร้างพร้อมกับคำสาปแช่งผู้ที่จะเข้ามาล่วงเกินองค์พระธาตุ เดิมมีชื่อว่าพระธาตุทับเงา หรือพระธาตุเงา โดยในตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายืนอยู่กลางแม่น้ำโขง แล้วเงาของพระองค์ทอดมาถึงบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงสร้างพระธาตุทับเงาที่พระพุทธเจ้าทาบมา ภายหลังถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
นางรัตชวรรณฯพัฒนาการอำเภอเมืองนครพนมเปิดเผยว่า เขตอำเภอเมืองฯมีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสุขเจริญ ต.บ้านผึ้ง บ้านสำราญ ต.อาจสามารถ บ้านท่าค้อ ต.ท่าค้อ นานนาโดน ต.ขามเฒ่า และบ้านหนาด ต.บ้านกลาง ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นไปตามกระบวนงานของกรมการพัฒนาชุมชน การเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยวฯบ้านสำราญ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการตลาดชุมชนฯ ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังคงมุ่งเน้นให้เกิดการทำงานและบูรณาการร่วมกัน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากภาคธุรกิจ ที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยมีตัวแทนนางชญานี ศรีจันทร์ ผู้แทนจากตลาดสุนทรี ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขง ข้างโรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว ถนนชยางกูร(นครพนม-ธาตุพนม) ได้ลงนามในข้อตกลง(MOU) ในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชน นำไปวางจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ได้แก่ กุ๊บใบจาก(หมวกชาวเวียดนาม) และผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ อาทิ หวดนึ่งข้าวเหนียว พัด กระจาด หรือผลผลิตจากปลาแม่น้ำโขงเช่นปลาแห้ง เป็นต้น
“นอกจากนี้บ้านสำราญยังมีเสน่ห์อีกอย่าง คือเป็นพื้นที่เส้นทางปั่นจักรยานชายโขง ที่มีนักท่องเที่ยวมาปั่นกันเป็นคณะทุกสัปดาห์ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นโอกาสของพี่น้องบ้านสำราญ ที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป ดังนั้นการเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้บ้านสำราญเป็นที่รู้จัก และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแอ่งใหญ่ของจังหวัดนครพนม” นางรัตชวรรณฯกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: