X

จิตเวชฯนครพนม พัฒนาศักยภาพทีมเยียวยาจิตใจเพิ่มการเฝ้าระวังดูแลประชาชนในระดับพื้นที่

นครพนม – พัฒนาศักยภาพทีมเยียวยาจิตใจเพิ่มการเฝ้าระวังดูแลประชาชนในระดับพื้นที่

วันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทีมเยียวยาจิตใจสำหรับบุคลากรระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ พัฒนาทักษะในการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจสำหรับประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤติสุขภาพจิตเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพใจให้กับประชาชน โดยมีนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธี
นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งภัยที่เกิดจากธรรมชาติและภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว โรคระบาด ภาวะทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งการเมือง การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างกะทันหัน รวมถึงเหตุการณ์วิกฤตทางสังคมในระดับพื้นที่ เช่น ผู้ติดสารเสพติดก่อความรุนแรงในชุมชนด้วยการวางเพลิงหรือทำลายทรัพย์สิน หรือกรณีผู้ป่วยจิตเวชทำร้ายคนในครอบครัวหรือบุคคลอื่นจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไปจนถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเกิดการสูญเสียและส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เกิดความผิดปกติ และโรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การติดสุราและยาเสพติด ซึ่งทางโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทีมเยียวยาจิตใจสำหรับบุคลากรระดับ รพ.สต. ในพื้นที่รับผิดชอบ ขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่บุคลากรเครือข่ายผู้รับผิดชอบงานวิกฤตสุขภาพจิตให้สามารถช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤตสุขภาพจิตได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น รวมทั้งสามารถเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ระยะยาวต่อไป
โดยกิจกรรมในครั้งนี้บุคลากรที่เข้ารับการอบรม จำนวน 70 คน จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับ การสังเกตอาการด้านจิตใจ การสังเกตผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ระบบบริการสุขภาพจิตในชุมชน แบบประเมินปัจจัยเสี่ยงอาการทางจิตกำเริบ การแปลผลคะแนนเพื่อวัดระดับความก้าวร้าวรุนแรง ปฏิกิริยาการตอบสนองทางด้านจิตใจของผู้ประสบภาวะวิกฤติ การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในรูปแบบต่างๆ ชุมชนกับการมีส่วนร่วมต่อการดูแลประชาชนตาม พรบ.สุขภาพจิต การช่วยเหลือทางจิตใจในสถานการณ์วิกฤต การปฐมพยาบาลทางใจ 3 ส (สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง) ขั้นตอนการปฐมพยาบาลทางใจในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ การฝึกดูแลจิตใจตนเองและผู้อื่น การประเมินระดับความเครียด ธรรมชาติของอารมณ์และสัญชาตญาณเตือนที่ควรดูแลตัวเอง การควบคุมอารมณ์เศร้า เทคนิคการผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง หลักการเจรจาต่อรอง การสื่อสารในสถานการณ์วิกฤตเพื่อลดความตื่นตระหนกและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤต การรับมือกับสถานการณ์วิกฤตและแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน